pearleus

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562

นักท่องเที่ยว "Hing End"ร่วม"เส้นทางมรดกแห่งสยาม" ชะอำ-หัวหิน จัดกาล่าดินเนอร์อลังการ ณ มฤคทายวัน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์


ทริปต์พิเศษของการท่องเที่ยว "เส้นทางมรดกแห่งสยาม"  เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2562  เป็นความร่วมมือของคณะผู้จัดงาน นำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,บริษัทบราเดอร์(ประเทศไทย)จำกัด ,การบินไทย,กลุ่มรถคลาสสิคโบราณ,กลุ่มร้านช่างทองโบราณเมืองเพชรบุรี และบริษัทวิทแอนด์วิสดอม จำกัด นำนักท่องเที่ยวระดับ Hight End ร่วมเดินทางสัมผัส มรดกล้ำค่าแห่งสยาม ในเส้นทางเชื่อมต่อของ 2 จังหวัดภาคกลาง ชะอำ ของเพชรบุรีและหัวหินของประจวบคีรีขันธุ์ เยี่ยมชมมฤคทายวันราชนิเวศน์  : พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง และวัดใหญ่สุวรรณาราม 

ทริปต์พิเศษ 2 วัน 1 คืน เดินทางจากกรุงเทพมหานคร  ถึงที่พักในสายของวันที่ 30 มีนาคม เข้าพักที่โรงแรมอนันตรา หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา  จ.ประจวบคีรีขันธุ์  รับประทานอาหารมื้อกลางวันที่ร้านสุภัทรา บายเดอะซี ช่วงบ่ายครึ่ง เดินทางไปชม "มฤคทายวันราชนิเวศน์"พร้อมรับฟังการบรรยายพิเศษ ก่อนกลับไปเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเพื่อร่วมกาล่าดินเนอร์ในค่ำคืนสุดพิเศษสุดอลังการ "The Glorious Siam Legacy Night" ณ เรือนเจ้าพระยารามราฆพ  รุ่งเช้าเดินทางไปชมความงดงามของวัดใหญ่สุวรรณาราม ที่อ.เมือง เพชรบุรี

คุณไพรัชช์ ทุมเสน ผู้อำนวยการกองตลาดภาคกลาง ให้สัมภาษณ์ว่า จากปรากฏการณ์สำคัญหนึ่งในกระแสการท่องเที่ยวช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา คือกระแสการเดินทางท่องเที่ยวแบบย้อนยุค หรือที่เรียกว่า Nostalgia Tourism เป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่ตอบสนองความต้องการ โหยหาอดีตและนำมาสู่ความต้องการที่จะหวนย้อนกลับไปมีประสบการณ์ ในอดีตที่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เจริญรุ่งเรือง หรือมีความงดงามทางวัฒนธรรม


ดังนั้นททท.ภูมิภาคภาคกลาง ได้นำจุดเด่นเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ความเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนานกว่า 600 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีความอุดมไปด้วยศิลปกรรมหัตถกรรม วิถีการกินชั้นสูง และหลักฐานการหลอมรวมวัฒนธรรมนานาชาติในดินแดนที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการทูต เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปร่วมสัมผัสเส้นทางมรดกแห่งสยาม โดยครั้งนี้เป็นเป็นทริปต์พิเศษ ที่คณะผู้จัดซึ่งเป็นพันธมิตรซึ่งมีแนวคิดเดียวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ เดินทางท่องเที่ยวใน "เส้นทางมรดกสยาม" จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวภาคกลางเช่นกัน ตามรอยสยาม วัด วัง ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมรูปแบบไฮเอ็น ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย และเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่สนใจได้ร่วมเดินทางในโอกาสต่อไป

" ครั้งนี้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ความงดงามของ วัง วัด  ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ได้รับประทานอาหารโบราณ  หน้าเรือนของเจ้าพระยารามราฆพ  เป็นนักท่องเที่ยวชุดแรกที่ได้มาทำกิจกรรมนี้ ถือเป็นโครงการ พรีเมี่ยม ซึ่งเราอยากให้นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพหรือมีกำลังซื้อได้ท่องเที่ยวในประเทศไทยของเรา"ผอ.กองการตลาดภาคกลาง กล่าวและว่าหากนักท่องเที่ยวสนใจโครงการท่องเที่ยวแนวนี้ สอบถามได้ที่ 1672  หากมีกลุ่มพันธมิตรใดมีการจัดขึ้นทางททท.จะทำหน้าประสานและให้ความช่วยเหลือ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการนำร่อง

สำหรับทริปต์พิเศษ การเข้าชม มฤคทายวันราชนิเวศน์  คือการได้รับฟังการบรรยายความเป็นมาของพระราชวังแห่งนี้ นอกเหนือจากการได้รับรู้จากการบรรยายไว้สั้นๆตรงจุดต่างๆในอาณาบริเวณของ"วัง"
"มฤคทายวันราชนิเวศน์" มรดกแห่งสยาม สร้างขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานในช่วงฤดูร้อน  เนื่องจากในช่วงนั้นทรงพระประชวร แพทย์หลวงจึงถวายคำแนะนำให้เสด็จไปประทับ ณ สถานที่ตากอากาศชายทะเล  

เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีให้อ่านในสื่อโซเชี่ยล ระบุว่า ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นาย อี. ฟอร์โน (E. Forno) และนายแอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) สถาปนิกชาวอิตาลีออกแบบตามแนวความคิด ของพระองค์ท่าน ซึ่งได้ทรงร่างแผนผังด้วยพระองค์เองพระราชทานให้สถาปนิกนำไปออกแบบรายละเอียด และได้ดำเนินการก่อสร้างในปี พุทธศักราช 2466 -2467













ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 หมู่ ได้แก่ หมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นส่วนของฝ่ายใน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ หมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ ณส่วนกลาง และสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารโถง มี 2  ชั้น ใช้เป็นโรงละครและท้องพระโรง พระที่นั่งเหล่านี้เชื่อมต่อถึงกันด้วยสะพานไม้มีหลังคาคลุม สำหรับตัวอาคารเป็นอาคารยกพื้นสูง สร้างด้วยไม้สักทอง ตอม่อเป็นเสาคอนกรีตหลังคามุงกระเบื้องว่าวโดยรวมมีลักษณะโปร่งเบา เหมาะกับภูมิอากาศ และบรรยากาศของชายทะเล
 
แต่ในห้วงเวลานี้ "มฤคทายวันราชนิเวศน์"กำลังจะมีอายุ 100 ปีในพ.ศ.2567 จึงอยู่ในช่วงของการบูรณะซึ่งเริ่มมา 2 ปีแล้ว และระหว่างการบูรณะนี้มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเข้าร่วมศึกษา โดยมีอาจารย์อริยะ สงบภัย ที่ปรึกษาการบูรณะใหม่ทั้งหมด และอาจารย์เป็นผู้นำชมบรรยายและให้ความรู้ใหม่ว่า การบูรณะในอายุ 95-96 ของมฤคทายวันแห่งนี้ คณะทำงานโดยเฉพาะตัวอาจารย์ได้เรียนรู้ใหม่ด้วยการถอดความจากจดหมายของรัชาลที่ 6 ที่เขียนถึงผู้ออกแบบซึ่งไม่ใช่ชื่อในสื่อที่ได้เรียนรู้กันมาแต่เป็นชื่อ" มารีโอ ตามัญโญ"ชาวอิตาลี สถาปนิกผู้ออกแบบสถานีรถไฟหัวลำโพง พระที่นั่งอนันตสมาคม มิวเซี่ยมสยามและห้องสมุดเนลสัน เฮย์  อีกทั้งยังได้ทราบพระราชวังแห่งนี้ใช้เวลาในการสร้างเพียง 7 เดือน โดยคนออกแบบ เป็นชาวอิตาลี วิศกรชาวเยอรมัน คนวางผังชาวสวิส และคนคุมงานก่อสร้างคือ เจ้าพระยายมราช และจากการทำงานบูรณะนี้ อ.อริยะ พบว่าบนหลังคากระเบื้องมีภาษาจีน อยู่ด้วย ดังนั้นคณะทำงานชุดนี้ต้องทำการขุดค้นโบราณคดีควบคู่ไปด้วยเพื่อให้การบูรณะใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด โดยใช้ทุกวิชาการผสมผสานเข้าด้วยกัน
 
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของทิศทางอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอ.อริยะ บอกว่า จะสืบค้นเพื่อให้ไปด้วยกัน ในจดหมายมีการเขียนถึงชื่อต้นไม้ มี ข่อย แจง และมะนาวผี และยังทราบว่าที่นี่แต่เดิมไม่ใช่ป่าชายเลน  แต่เป็นป่าชายหาด ป่าชายเลนนั้นประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งเขื่อนหินด้วย และรู้มาว่า ป่าชายหาดนั้นจะช่วยรักษาน้ำจืด ไว้ในพื้นดิน ซึ่งมีบ่อน้ำจืดอยู่ประมาณ 13 บ่อ แต่ป่าชายเลนนั้นเป็นน้ำกร่อย

ทั้งนี้กระบวนการทำงานทั้งหมด จะมีการพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือในวันงานวันครบรอบ 100 ปี ของมฤคทายวันราชนิเวศน์ในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งจะเป็นการบอกเล่าการก่อสร้างในสมัยรัชการที่ 6  เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์หลากหลายด้านของพระราชวังแห่งนี้ควบคู่กันด้วย

อย่างไรก็ตามระหว่างการบูรณะนี้ ยังเปิดให้เข้าชม และจัดบรรยายให้ความรู้ควบคู่กันไปด้วยสำหรับกลุ่มหรือคณะที่มาเที่ยวถือเป็นการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ตลอดจนวัฒนธรรมและความเป็นมาของบรรพบุรุษไทย เพื่อความภาคภูมิใจมรดกแห่งสยามนี้    

"วัดใหญ่สุวรรณาราม" อีกหนึ่งมรดกสยาม  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดใหญ่เดิมชื่อว่า "วัดน้อยปักษ์ใต้"  จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร  ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าราบ  อ.เมือง  เพชรบุรี  มีการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4  สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังจะเห็นได้จากหลักฐานตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้ว่า ภาพและลายในพระอุโบสถนี้คงเขียนมาก่อน 300 ปีขึ้นไป…”

ความโดดเด่นของวัดใหญ่สุวรรณาราม อยู่ที่รูปแบบของสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม และประติมากรรม ที่รวบรวมช่างฝีมือไว้หลายสาขา โดยเฉพาะฝีมือช่างเพชรสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เห็นได้ในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ
พระอุโบสถมีพระระเบียงคดล้อมรอบ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยสมัยอยุธยา ก่ออิฐ ถือปูน มีหน้าบันประดับกระจกสี ประกอบลวดลายปูนปั้นสวยงามมาก ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม 5 ชั้น งดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ พระพรหม ยักษ์ ครุฑ ฤาษี และเทวดา ไม่ซ้ำแบบกัน คั่นกลางองค์เทพด้วยลายดอกไม้ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยรูปหล่อพระสังฆราชแตงโม หน้าบันเป็นงานรูปปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายที่งามพลิ้วราวมีชีวิต

ด้านหน้าและด้านหลังผนังหุ้มกลองของพระอุโบสถมีบานประตูด้านละ 2 ช่อง โดยด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างไว้อยู่ระหว่างกึ่งกลางของบานประตูทั้งสองข้าง แต่มีขนาดใหญ่กว่าบานประตู พระอุโบสถหลังนี้จึงแปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะมีหน้าต่างเพียงหน้าต่างเดียว

ส่วนด้านหลังของบานประตูและหน้าต่าง มีภาพเขียนทวารบาลรูปทรงสวยงามมากพระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย ถัดมาด้านซ้ายเป็นรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ด้านขวาเป็นรูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม และที่สำคัญคือ ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย มีความแปลกคือที่พระบาทเบื้องขวามี 6 นิ้ว


"ศาลาการเปรียญ"  เป็นสถาปัตยกรรม-ศิลปกรรม ยุคอยุธยาตอนปลาย สร้างด้วยไม้ผนังเป็นฝาปะกน ลงรักปิดทอง เดิมเป็นของเจ้าฟ้าพระขวัญ ตำหนัก ต่อมาพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ รื้อมาถวายพระสังฆราชแตงโม โดยมีบานประตูแกะสลักที่งดงามและมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย และที่บานประตูมีหลัก มีรอยแผลบนประตู ทำให้มีประตูแตก ชำรุดถาวร เรียกรอยพม่าฟัน แต่นักวิชาการให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นการทำลายประตูตั้งแต่ครั้งรื้อตำหนักถวายสมเด็จเจ้าแตงโม (พระสุวรรณมุณี) พระสังฆราช เกี่ยวเนื่องกับเรื่องวิญญานเจ้าฟ้าพระขวัญ เจ้าของตำหนักเดิม ที่ถูกพระเจ้าเสือสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เมื่อครั้งสมเด็จพระเพทราชาประชวรใกล้สวรรคต

หอเก็บพระไตรปิฏก เป็นอาคารไม้ผนังฝาปะกน รองรับด้วยเสาไม้ 3 เสา จากแนวคิดที่ว่า พระไตรปิฎก ประกอบด้วย 3 ปิฎกคือ พระธรรมปิฏก พระไตรปิฏก และพระสุตันตปิฎก

ทริปต์เส้นทางมรดกสยาม ในรูปแบบไฮเอ็น  จะเกิดขึ้นในอีกหลายๆพื้นที่ด้วยนักท่องเที่ยวไทยที่มีกำลังซื้อและศักยภาพในการเดินทาง เพื่อนำร่อง สัมผัส สถานที่ท่องเที่ยว เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมตลอดความเป็นมารากเหง้าแห่งความเป็นไทยที่เราทุกคนต้องร่วมภาคภูมิใจ ด้วยการส่งเสริมจากคนไทยด้วยกัน..

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น