ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.เวลา 15.00 น. พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)ได้เดินทางไปยังลานสยามมินทร์ สำนักงานเทศบาลเมืองอรัญญประเทศเพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “รวมใจประชารัฐ พัฒนาสตรีและครอบครัวสู่สังคมเสมอภาค” ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐร่วมใจ สร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยมีนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร พม. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมงานกว่า 500 คน
พลเอกอนันตพร กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงเปรียบเทียบจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ของกระทรวงพม. พบว่า ในปี 2561 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 2,710 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 860 ราย (ปี 60/1,850) และในจำนวนนี้เป็นความรุนแรงในครอบครัวถึง 1,774 ราย จากแนวโน้มตัวเลขความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชน รับทราบช่องทางในการแจ้งเหตุ หรือขอรับบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย การช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ทำให้กล้าที่จะแจ้งเหตุ
ดังนั้นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันยุติความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ซึ่งจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา อีกทั้งจากสถิติความรุนแรงที่พบในจังหวัดสระแก้ว พบว่ายังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่แต่เป็นตัวเลขที่น้อย
รมว.พม.กล่าวอีกว่า กิจกรรมในวันนี้จะช่วยกระตุ้นคนในสังคมให้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงมากขึ้นและช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดของตน
ด้านนายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงพม. มีภารกิจในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งและมั่นคง จำเป็นต้องทำงานเชิงรุก รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ โดยเล็งเห็นความสำคัญของ “สื่อ” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่กระจายเนื้อหาข่าวสารไปยังประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้สังคมได้รับรู้ข่าวสารเหตุการณ์ ตลอดจนความรุนแรงของเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคม และยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้
โดยเมื่อปี 2555 สค. จึงได้จัดโครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในงานด้านสตรีและครอบครัวแก่เครือข่ายสื่อมวลชน และรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่องานของ สค. ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยใช้ชื่อโครงการพลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ได้มีการขับเคลื่อนโครงการพลังบวกสามฯ เกิดผลตอบรับที่ดี
นอกจากจะสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ที่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจังแล้ว ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม และที่สำคัญต้องขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วม และนำเสนอภาพลักษณ์ดีๆ ของโครงการนี้มาโดยตลอด
อธิบดีกรมสค.กล่าวต่อว่า ในปี 2562 สค. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการบูรณาการความร่วมมือการดำเนินงานทุกภาคส่วนในรูปแบบ “ประชารัฐ” ภายใต้กิจกรรมรวมใจประชารัฐ พัฒนาสตรีและครอบครัวสู่สังคมเสมอภาค และได้ชูแนวคิด “ประชารัฐร่วมใจ สร้างสังคมไร้ความรุนแรง” เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของ พม. ในด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
อีกทั้งนโยบายด้านการพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ และการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสื่อสารไปยังสาธารณชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัวอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ การสร้างความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ และผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว พัฒนาไปสู่การสร้างสังคมให้มี “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
สำหรับกิจกรรมสำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ (26 เม.ย.62)ประกอบด้วย ช่วงเช้า พิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวตำบลห้วยโจด (ศปก.ต.ห้วยโจด) และกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 83 และช่วงบ่าย กิจกรรมเดินรณรงค์สร้างกระแสสังคม ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ และในวันที่ 27 เม.ย.62 จะเป็นการเสวนาแนวทางการประชาสัมพันธ์งานด้านสตรีและครอบครัวร่วมกับสื่อมวลชน ในหัวข้อ “เสนอข่าวอย่างไร ไม่เป็นภัยต่อสตรีและครอบครัว”
นอกจากนี้ยังการสาธิตการผลิตสินค้าจากกลุ่มสตรีภายใต้การดูแลของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว หน่วยงานสังกัด สค. และกลุ่มสตรีและครอบครัวในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย องค์กรสตรี เครือข่ายครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน สื่อมวลชนส่วนกลาง และสื่อมวลชนส่วนภูมิภาค องค์กรธุรกิจเอกชนและสมาคม ส่วนราชการในจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานในสังกัด พม. จำนวน 500 คน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น