pearleus

วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

พม. จับมือภาคีเครือข่ายติดตามงานจังหวัดปลอดขอทาน หารือการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ครั้งที่ 2/2562 ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลเอก อนันตพร กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ครั้งที่ 2/2562 เป็นการประชุมเพื่อติดตาม ผลการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ผลการดำเนินงานของจังหวัดปลอดขอทาน ไตรมาสที่ 1 - 2 ในพื้นที่นำร่อง    6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ปราจีนบุรี ลำพูน พัทลุง บุรีรัมย์ และสุโขทัย และ 2) ผลการดำเนินงานของจังหวัดที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง บึงกาฬ นครพนม ปัตตานี พังงา น่าน เพชรบูรณ์ แพร่ ราชบุรี แม่ฮ่องสอน  และหนองบัวลำภู ซึ่งจะประกาศเจตนารมณ์ในเดือนมิถุนายน 2562

พลเอก อนันตพร กล่าวต่อว่า  การประชุมครั้งนี้ มีการรายงานจำนวนผู้ทำการขอทานในปี 2562 พบผู้ทำการขอทาน จำนวน 237 ราย แบ่งเป็นขอทานไทย จำนวน 156 ราย และขอทานต่างด้าว จำนวน 81 ราย ซึ่งมีจำนวนลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปี 2561 ร้อยละ 25 (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2560 - มีนาคม 2561 มีผู้ทำการขอทาน จำนวน 316 ราย) และการขับเคลื่อนงานพัฒนา ผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ (Smart on Street)  พบว่า ปัจจุบัน มีผู้แสดงความสามารถได้จดแจ้งขอมีบัตรประจำตัวแล้ว  จำนวน 4,361 คน โดยเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2562
จะมีการฝึกอบรมในพื้นที่ 4 ภาคทั่วประเทศ รวมจำนวน 200 คน และพิจารณาคัดเลือกผู้แสดงความสามารถที่มีความสามารถโดดเด่นในแต่ละภาคๆ ละ 5 คน รวมจำนวน 20 คน แล้วนำมาแข่งขันในระดับประเทศต่อไป ซึ่งได้ประสานความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ พื้นที่โครงการบ้านเคหะประชารัฐ ตลาดฟู้ด วิลล่า (Food Villa) ราชพฤกษ์ และบริเวณ Sky walk ของสถานีรถไฟฟ้า BTS เพื่อเปิดพื้นที่การแสดงสำหรับผู้แสดงความสามารถ 

พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาเห็นชอบถึงการศึกษาแนวทางเปรียบเทียบ ตาม พ.ร.บ. ควบคุม การขอทาน พ.ศ. 2559 และข้อดี-ข้อเสียของการมอบอำนาจตามมาตรา 23 โดยผลการศึกษา พบว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัวในการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการควบคุมและป้องปรามผู้ทำการขอทานให้เกิดความเกรงกลัว ในส่วนของการเปรียบเทียบปรับยังคงเป็นหน้าที่ของตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จะดำเนินการออกประกาศกำหนดแนวทางเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 เพื่อให้พนักงานสอบสวนใช้เป็นแนวทางในการเทียบเคียงให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“กระทรวง พม. โดย พส. พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนการควบคุมการขอทาน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2562  - 2564 ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน  และภาคประชาสังคม รวมทั้งประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้วยการควบคุมและลดการขอทานอย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมผู้แสดงความสามารถให้มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อไป”  พลเอก  อนันตพร กล่าวในตอนท้าย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น