pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561

รมว.พม. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุม CSW สมัยที่ 62 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ USA

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไป เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women หรือ CSW) สมัยที่ 62 และเป็นประธานเปิดงานการจัดกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อ การเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร : เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้สตรีในชนบทในบริบทอาเซียน “Women’s Access to Technologies and Media : Empowering rural women in the ASEAN region” ระหว่างวันที่ 10 – 16 มีนาคม 2561 โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณทิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตลอดจน นางพรสม เปาปราโมทย์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคณะ รวมจำนวน 8 คน ร่วมประชุมด้วย
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women หรือ CSW) สมัยที่ 62 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 23 มีนาคม 2561  ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยการประชุมประจำปี 2561 นี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมของสหประชาชาติด้านสตรีที่สำคัญในเวทีโลก มีผู้แทนรัฐบาลจาก 174 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนองค์กรเอกชน  และผู้แทนองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ในหัวข้อหลัก คือ ข้อท้าทายและโอกาสในการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อสตรีและเด็กหญิงในชนบท และหัวข้อรอง คือ การมีส่วนร่วมและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สื่อ และเทคโนโลยีในการสื่อสารต่าง ๆ ของสตรี และผลกระทบในฐานะเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อสตรี ซึ่งถือเป็นการประชุมด้านสตรีที่มีความสำคัญยิ่งในระดับสากล
โดยการประชุมดังกล่าว พลเอก อนันตพร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้รับเกียรติให้กล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่วันแรกของการประชุม โดยกล่าวถึงการดำเนินงานด้านสตรี ว่า วิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน 2025 (The ASEAN Community Vision 2025) มีหลักการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มีผลงานสำคัญๆ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในอาเซียน และการบูรณาการการเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียน ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นจากผู้นำระดับสูง ของอาเซียนในการดำเนินการด้านการส่งเสริมสถานภาพสตรี
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า พลเอก อนันตพร ยังได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Round Table) ในหัวข้อ เรื่อง ตัวอย่างที่ดีและความก้าวหน้าในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อสตรีในชนบท โดยผ่านการป้องกันความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การเข้าถึงความยุติธรรม การบริการสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม ในการนี้
ทัังนี้รมว.พม. ได้กล่าวถึง ความจำเป็นในการพัฒนาสตรีในชนบททั้งทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาศักยภาพ และการกระจายบริการด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสตรีชนบทอย่างสมบูรณ์ และเป็นรากฐานะที่สำคัญเพื่อจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเรื่องการขจัดความรุนแรงต่อสตรี ประเทศไทยกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. ... ซึ่งจะมาแทน พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และสามารถคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวได้อย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รมว.พม. พร้อมคณะ ยังได้มีโอกาสในการศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานและเยี่ยมชมกรมผู้สูงอายุของนครนิวยอร์ก รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับสถานกงสุลใหญ่และคนไทยในนครนิวยอร์ก เพื่อพัฒนาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนรับทราบสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชุมชนไทย
อีกทั้ง ประเทศไทยได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน ในหัวข้อ การเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร : เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้สตรีในชนบทในบริบทอาเซียน โดย พลเอก อนันตพร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งกิจกรรมคู่ขนานดังกล่าว ได้มีวิทยากรจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้แทน UN Women ผู้แทนประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ร่วมอภิปรายการบูรณาการความเสมอภาคระหว่างเพศในการพัฒนาชนบทในบริบทของอาเซียน
ในการนี้ นางพรสม เปาปราโมทย์ ผู้แทนประเทศไทยได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในการยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีชนบทผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นแหล่งเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสตรีที่ยากจนสามารถยกระดับคุณภาพการผลิตในระดับหมู่บ้านให้ก้าวขึ้นเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งในปัจจุบันสินค้า OTOP จากสตรีเหล่านี้ก็สามารถยกระดับขึ้นมาจำหน่ายบนเครื่องบินสายการบินไทยได้อีกด้วย
 “จะเห็นได้ว่า การเดินทางไปร่วมประชุม CSW สมัยที่ 62 ในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสในการจัดกิจกรรมคู่ขนาน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหน่วยงานต่างประเทศ ตลอดจนพบปะเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อน ประเด็นด้านสตรีของรัฐบาลไทยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 5 หรือ SDG Five ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและพัฒนาศักยภาพสตรีสู่ระดับสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้แทนกลุ่มอาเซียน ได้ประกาศคำมั่นสัญญาในการให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการประสานความร่วมมือในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพสตรีและความเสมอภาคของทุกคน” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย
***************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น