พระสมเด็จ
วัดระฆัง หลังค้อน เป็นพระเนื้อโลหะผสม องค์พระมีขนาดเล็กกะทัดรัด กว้างประมาณ ๑.๒
ซม. สูงประมาณ ๑.๗ ซม. พระชุดนี้สร้างโดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณฉันทมหาเถร
(เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) เจ้าอาวาสวัดระฆัง
พระสมเด็จวัดระฆังหลังค้อนมีการเล่าขานมาแต่ในอดีตว่าเด่นในเรื่องคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดปลอดภัยเดินทางปราศจากอุบัติภัยในเรื่องสิ่งเร้นลับนี้ผู้เขียนไม่กล้ายืนยันเพราะเป็นเรื่องพบได้เฉพาะตนไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะครับ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้สร้าง
พระสมเด็จวัดระฆัง หลังค้อนเมื่อปี ๒๔๕๓-๒๔๕๗ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม
(ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" เมื่อปี
๒๔๖๔)
ต่อมาท่านได้สร้างพระสมเด็จพิมพ์เดียวกันนี้ อีกครั้งช่วงปี ๒๔๕๘-๒๔๗๐
โดยได้นำแผ่นโลหะที่พระอาจารย์ต่างๆ ได้ลงอักขระมาหลอมหล่อรวมกับชนวนพระพุทธชินราช
(จำลอง) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕
)ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
เป็นเชื้อชนวนในการสร้างพระสมเด็จ วัดระฆัง หลังค้อน
พระที่สร้างในคราวแรกมีกระแสเหลืองออกทองลูกบวบส่วนพระที่สร้างในคราวหลังช่วงปี
๒๔๕๘-๒๔๗๐ จะมีสีอ่อนกว่า แต่วงการนักสะสมพระเครื่องมิได้มีการแบ่งแยกรุ่นแรก
รุ่นหลังกันอย่างชัดเจนนัก เพราะว่าค่อนข้างจะแยกกันได้ยาก
สำหรับพระคณาจารย์ที่ร่วมพิธีพุทธาภิเษกในสมัยนั้น
มีจำนวนถึง ๖๐ รูป อาทิเช่นหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง, หลวงพ่อชู วัดนาคปรก, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อคง วัดบางกะพร้อม, หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม, หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม, หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เป็นต้น
(รายชื่อพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกมาจากบันทึกประวัติที่ พระราชธรรมภาณี
รองเจ้าอาวาสวัดระฆัง เมื่อปี ๒๕๑๓ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา)
เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน)
การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังเนื้อโลหะทองผสมรุ่นนี้
เริ่มด้วยการส่งแผ่นทองเหลืองไปถวายพระอาจารย์ต่างๆ ทั้งใน จังหวัดพระนคร (กทม.)
ธนบุรี และต่างจังหวัด จำนวนมากให้ท่านลงจารอักขระเลขยันต์ แล้วส่งคืนกลับมา
เมื่อรวมแผ่นทองเหลืองที่ลงเลขยันต์เสร็จแล้ว
จึงเริ่มพิธีโดยอาราธนาพระเถรานุเถระผู้ทรงวิทยาคุณ ทำพิธีปลุกเสกแผ่นทองเหลือง
ที่จะหล่อหลอมเทเป็นองค์พระ เมื่อเททองเป็นองค์พระสมเด็จฯแล้ว
จึงเลื่อยออกเป็นกิ่งๆ จากแกนชนวน แล้วจึงเลื่อยตัดออกเป็นแท่งลักษณะของแท่งพระ
เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้างประมาณ ๓ ซม. ความยาวประมาณ ๕ ซม.ความหนาประมาณ
๐.๕ ซม. หลังจากเลื่อยตัดจากช่อแล้ว พระแต่ละองค์จะติดกันเป็นแพ
ต้องใช้เลื่อยเฉือนบากออกตรงรอยต่อระหว่างองค์
แล้วใช้ค้อนเคาะกระแทกให้องค์พระแต่ละองค์แยกออกจากกันจึงเป็นที่มาของชื่อพระว่าหลังค้อน
พระบางองค์อาจจะมีรอยค้อนกระแทกยุบลงไปบ้าง
บางองค์ก็ไม่มี จะมีก็แต่เพียงรอยตะไบแต่งเท่านั้น
ลักษณะพิมพ์พระประทับนั่งปางสมาธิ
บนอาสนะบัว ๒ ชั้น
ในซุ้มครอบแก้วด้านหลังองค์พระเป็นปรกโพธิ์ลักษณะเป็น
เม็ดกลม รายรอบเหนือพระเศียรด้านหลังเรียบ สมัยก่อนแบ่งออกเป็น ๒ แบบ
แบบหนึ่งไม่ได้ขัดแต่ง ให้ทำบุญองค์ละ ๑ บาท อีกแบบเป็นพระขัดแต่ง ให้ทำบุญองค์ละ
๒ บาทปัจจัยทำบุญนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ได้รวบรวมนำไปบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถ
ทุกวันนี้
พระสมเด็จวัดระฆัง หลังค้อน ได้กลายเป็นของดีที่มีผู้แสวงหากันมาก
สนนราคายังไม่สูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับพุทธคุณหากมีโอกาสควรจะได้หาไว้ใช้บูชาติดตัวสักองค์หนึ่ง
เป็นพระเครื่องสายวัดระฆังที่น่าสนใจสะสมบูชาเป็นอย่างยิ่ง
ข้อควรระวังคือพระปลอม
ซึ่งมีการสร้างปลอมกันขึ้นนานมาแล้ว หลายฝีมือด้วยกัน หนทางที่ปลอดภัย
ก็ต้องหาเช่าจากผู้ที่รู้จริง และมีความจริงใจต่อกัน สำคัญที่สุดคือ
ต้องรับประกันให้ด้วย หากเป็นพระเก๊ต้องรับคืนเต็มจำนวนเงินทันที เนื้อที่คอลัมน์หมดลงแล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ/
ดร.สุนทร
วัฒนาพร /เรียบเรียง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น