pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

พม.จัดวันสตรีสากลปี61 ใต้แนวคิด“พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล ที่ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เวลา 13:30 น. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2561 จำนวน 19 สาขา 47 รางวัล พร้อมกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” โดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้กล่าวรายงาน
นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้รับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ประจำปี 2561 จากคณะผู้แทนสมัชชาสตรีแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสตรีไทยก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีสู่สากล โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ให้การต้อนรับ
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของสตรี ให้เกียรติและเคารพในสิทธิ อันชอบธรรมในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม และมีคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสังคมไทย
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตระหนักดีว่า พลังของสตรี ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ เนื่องจากมีจำนวนสตรีไทยถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ หรือฝงประมาณ 33.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีไทยที่อยู่ในชนบทประมาณ 16.9 ล้านคน มีบทบาทสำคัญในด้านการเกษตร หัตถกรรม และการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังมีสตรีอีกจำนวนมากที่มีบทบาทสำคัญต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในบทบาทของสตรีไทยและความเสมอภาคระหว่างเพศมาตลอด โดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เน้นการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ขณะเดียวกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ก็ได้เน้นการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาศักยภาพ ทุนมนุษย์ที่คำนึงสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี ก็คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มบทบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่ม และทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้สตรีมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

 “สตรีทุกท่านต้องหมั่นฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีพ มีการคิดอย่างเป็นระบบ และมีวิจารณญาณ มีความมั่นใจและความเป็นผู้นำ ก้าวทันเทคโนโลยี รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งรักษาภาพลักษณ์อันงดงามของสตรีไทย พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป” พลเอก ฉัตรชัย กล่าวในตอนท้าย

------------------------------

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น