ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามที่คณะผู้แทนไทย นำโดย นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ พร้อมด้วย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ทรงคุณวุฒิ (ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล รศ.จุรี วิจิตรวาทการ และนางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์) ได้เข้าร่วมการนำเสนอรายงานประเทศฉบับที่ 6 และ 7 ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) แห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 5 ก.ค.60 นั้น
คณะกรรมการ CEDAW ได้แสดงความชื่นชมไทยในประเด็น พรบ.ความเท่าเทียมทางเพศ การถอนข้อสงวนต่อข้อ 16 ของอนุสัญญาฯ (สิทธิในการสมรสและครอบครัว) การผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่อง marital rape ฯลฯ
นอกจากนี้คณะกรรมการได้สอบถามคณะผู้แทนไทยในประเด็น อาทิ รัฐธรรมนูญกับการปกป้องบุคคลจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ กลไกระดับชาติในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและเสริมพลังสตรี เช่น กองทุน คณะกรรมการระดับชาติในด้านต่างๆ การขจัดความรุนแรงต่อสตรี การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมุนษยชน สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข โรคเอดส์ ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาโสเภณี การค้ามนุษย์ การมีส่วนร่วมของสตรี ในด้านการเมือง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รัฐสภา ตุลาการ การทูต การดูแล สิทธิในที่ดิน และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับสตรีกลุ่มเฉพาะ การคุ้มครองแรงงานสตรีกลุ่มต่างๆ การศึกษาของกลุ่มสตรี การปฏิบัติตามข้อมติ UNSC 1325 เรื่องสตรี สันติภาพ และความมั่นคง สิทธิในการได้สัญชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยสามารถตอบคำถามของคณะกรรมการเกือบทั้งหมดภายใต้ข้อจำกัดของเวลา นอกจากนี้ จะได้มีการจัดทำคำตอบเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความชัดเจนและครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยจะจัดส่งให้คณะกรรมการภายใน 48 ชั่วโมงตามกำหนด และในขั้นต่อไป คณะกรรมการจะมีข้อสังเกตเชิงสรุปเกี่ยวกับการนำเสนอรายงานของไทยครั้งนี้ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะ (Concluding Comments) โดยคาดว่าจะออกในห้วงวันที่ 21 ก.ค. 60
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW) ของประเทศไทยต่อคณะกรรมการ CEDAW ของสหประชาชาติ โดยเป็นการนำเสนอในรูปแบบการตอบคำถามจากคณะกรรมการฯ โดยเรียงลำดับประเด็นข้อคำถามตามมาตราต่าง ๆ ของอนุสัญญาฯ ได้แก่
ข้อ1-2 เป็นประเด็นคำนิยามการเลือกปฏิบัติในรัฐธรรมนูญ และในกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยงข้อง
ข้อ 3 เป็นประเด็นเกี่ยงกับพันธกรณีของรัฐภาคี มาตรการต่าง ๆ ในด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ที่รัฐภาคีต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของสตรี
ข้อ 4 เป็นประเด็นเกี่ยวกับมาตรการพิเศษในการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ
ข้อ 5 เป็นประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรี และการขจัดอคติระหว่างเพศ
ข้อ 6 เป็นประเด็นเกี่ยวกับการยุติการค้ามนุษย์ในผู้หญิง และการหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้หญิง
ข้อ7-8 เป็นประเด็นเกี่ยวกับมาตรการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการดำรงชีวิต
ข้อ 9 เป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการได้สัญชาติและการเคารพสิทธิเด็ก
ข้อ 10 เป็นประเด็นผู้หญิงและการศึกษา
ข้อ 11 เป็นประเด็นสิทธิในการทำงาน และได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม
ข้อ 12 เป็นประเด็นสุขภาพของผู้หญิง
ข้อ 13 เป็นประเด็นสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนในการกู้ยืม
ข้อ 14 เป็นประเด็นผู้หญิงในชนบท
ข้อ15-16 เป็นประเด็นความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ในการสมรสและความสัมพันธ์ในครอบครัว
ในการนี้ นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในการเปิดการรายงานดังกล่าว โดยกล่าวถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความก้าวหน้าเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความก้าวหน้าของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 การรับเป็นรัฐภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิแรงงาน ข้อ 111 ว่าด้วยเรื่องการเลือกปฏิบัติ เป็นต้น
หลังจากนั้น คณะผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิได้ตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการ CEDAW โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.มาตรา 17 พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ที่ยังให้ข้อยกเว้นในการเลือกปฏิบัติได้ถ้าเกี่ยวข้องกับหลักการศาสนาและความมั่นคงของประเทศ และแนวทางการแก้ไขยกเลิกข้อยกเว้น
2. .สถานการณ์ความรุนแรงและผลกระทบต่อสตรีมุสลิมชายแดนภาคใต้
3. การแต่งงานในเด็ก
4. แนวทางการแก้ไขและป้องกันความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก
5.การร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว
6.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีและการค้ามนุษย์
7. แนวทการพัฒนาสตรีพิการ
8..พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และแนวทางการพัฒนาการคุ้มครองสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์
และในตอนท้าย นางนภา ได้ขอบคุณคณะกรรมการ CEDAW ที่ได้ให้ข้อคำถามและข้อวิจารณ์ต่าง ๆ และกล่าวเน้นย้ำในความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาและปรับปรุงงานเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยยึดการดำเนินงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมเอง ทั้งนี้ ประเทศไทยจะนำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไป
********************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น