เมื่อวันที่19 ก.ค.60 เวลา 10.30 น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างการใช้ชีวิตร่วมกับชาวต่างชาติ พร้อมเปิดตัว “แบบจำลองคลินิกให้คำปรึกษาสำหรับหญิงไทยในสังคมพหุวัฒนธรรม” กล่าวรายงานโดยนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างประเทศ กฎหมายครอบครัวของประเทศต่างๆ และการเข้าถึงช่องทางการช่วยเหลือเมื่อพำนักอยู่ในต่างประเทศ ตลอดจนทักษะในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อต้องใช้ชีวิตในต่างประเทศ ให้กับผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย หญิงไทยและคู่สมรสชาวต่างชาติ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 130 คน ณ ห้องอมรินทร์ โรงแรม เอส.ดี. อเวนิว กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน การแต่งงานของผู้หญิงไทยกับชายชาวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสังคมที่เปิดกว้างในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเดินทางและติดต่อสื่อสารอย่างกว้างขวางและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งผู้หญิงทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกคู่ครองอย่างอิสระและด้วยความยินยอมพร้อมใจ แต่ด้วยความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษา
อีกทั้งขาดการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนเดินทางมาใช้ชีวิตคู่ในต่างประเทศ ทำให้ผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติประสบกับความทุกข์ยากลำบากในการใช้ชีวิตคู่ อาทิ ถูกกดขี่ข่มเหงจากสามีชาวต่างชาติ และถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง ความเสมอภาคของหญิงและชาย และความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต จึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงไทยในต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติจากสามีชาวต่างประเทศตามที่เหมาะสมและควรจะเป็น เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย สค. จึงร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบที่จะมากับการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ อาทิ ความต้องการให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ให้สมดุลย์ระหว่างคนสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ทรัพย์สิน สัญชาติ ตลอดจนการจดทะเบียนหรือการหย่า รวมทั้งการจัดหาบริการของรัฐ
โดยได้ศึกษาสถานการณ์และจัดเวทีการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างประเทศ กฎหมายครอบครัวของประเทศต่างๆ และการเข้าถึงช่องทางการช่วยเหลือเมื่ออยู่ต่างประเทศ ตลอดจนทักษะสำหรับหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องใช้ชีวิตในต่างประเทศ ให้กับผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ รวมถึงครอบครัวและอาสาสมัครต่างๆ เพื่อนำปัญหา ตลอดจนความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ “แบบจำลองคลินิกให้คำปรึกษาสำหรับหญิงไทยในสังคมพหุวัฒนธรรม” เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตคู่ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับ “แบบจำลองคลินิกให้คำปรึกษาสำหรับหญิงไทยในสังคมพหุวัฒนธรรม” เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างประเทศ การให้คำปรึกษาแนะนำ แหล่งข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการสมรสข้ามวัฒนธรรม ศูนย์กลางการให้บริการปรึกษาหารือ รวมทั้งให้การช่วยเหลือกรณีมีปัญหาที่เกิดจากการใช้ชีวิตร่วมกับสามีชาวต่างชาติ รวมไปถึงการจัดทำคู่มือในการตอบข้อซักถาม และให้คำแนะนำต่อผู้หญิงและคู่สมรสชาวต่างชาติ ซึ่งขณะนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ และคณะ ได้เตรียมนำเสนอแบบจำลองคลินิกดังกล่าว เพื่อขยายผลไปสู่การจัดตั้งเป็นคลินิกให้คำปรึกษาในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จำนวน 8 แห่ง ทั่วประเทศต่อไป
“สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างการใช้ชีวิตร่วมกับชาวต่างชาติ และ แบบจำลองคลินิกให้คำปรึกษานี้นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงสำหรับการใช้ชีวิตคู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงไทยให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมตามกระแสโลกาภิวัฒน์ เพื่อให้สามารถดูแลตนเองและช่วยเหลือคนไทยด้วยกันได้อย่างเข้มแข็ง” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย
###############
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น