pearleus

วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดนครปฐมเตรียมออกคำสั่งระงับการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อ 12 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครปฐม นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานประชุมคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ มลพิษในดิน และความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน หลังจากมีการร้องเรียนของประชาชนและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอนครชัยศรี และอำเภอดอนตูม ที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากน้ำเค็มของการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวรั่วไหลเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตร อาทิ ถั่วฝักยาว ผักกาด ขึ้นฉ่าย พริกไทย แตงร้าน แตงไทย และอื่นๆ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจังหวัดนครปฐม มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาวที่รับการขึ้นทะเบียน จำนวน 1,426 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอ โดยมีการใช้ระดับความเค็มของน้ำในการเพาะเลี้ยงที่ 3-5 กรัมต่อลิตร ส่วนพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ หากได้รับน้ำในระดับความเค็มที่ 0.5 กรัมต่อลิตร จะทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ  



          นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เรื่อง ระงับการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครปฐม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2553 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 7/2559 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2559 มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีเพื่อระงับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามที่กำหนดนิยามไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้ความเค็มในพื้นที่น้ำจืด เนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดภาวะมลพิษทั้งทางน้ำและในดิน ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และก่อให้เกิดผลเสียหายของประชาชน ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีคำสั่งระงับดังกล่าว และเกษตรกรอยู่ในช่วงของการเพาะเลี้ยง สามารถดำเนินการเพาะเลี้ยงในแต่ละช่วงต่อไปได้ และจะต้องจับสัตว์น้ำดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยยกเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำในโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของทางราชการ และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนต้องจัดให้มีระบบการบำบัดและควบคุมการปล่อยน้ำทิ้ง มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ในส่วนของแนวทางหรือมาตรการรองรับผลกระทบและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทางคณะทำงานฯ จะได้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนตามขั้นตอนต่อไป















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น