ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.60 เวลา 09.00 น. นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาชุมชนเทพารักษ์ 5 พร้อมมอบเงินสงเคราะห์แก่เด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. รวมจำนวน 60 คน โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ชุมชนเทพารักษ์ 5 อ.เมือง จ.ขอนแก่น
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ชุมชนเทพารักษ์ 5 เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งหมด 103 ครัวเรือน 68 หลังคาเรือน มีประชาชนที่พักอาศัยในชุมชนดังกล่าวจำนวน 480 คน ส่วนใหญ่อพยพมาจากต่างถิ่น ที่ต้องเข้ามาใช้แรงงานในตัวเมือง เป็นชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่มานานกว่า 30 ปี โดยประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย และว่างงาน มีฐานะยากจน ซึ่งการดูแลให้ความช่วยเหลือจากท้องถิ่นและภาครัฐยังติดขัดข้อกฎหมายทางราชการ ทำให้การช่วยเหลือไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่
ทั้งนี้ชาวชุมชนดังกล่าวได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนด้วยการจัดหาที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่ โดยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง สำหรับแนวทางการช่วยเหลือชุมชนดังกล่าว กระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือในการพัฒนาชุมชนตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงต่อไป
รมว.พม.ระบุว่า สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมกิจการสตรีและครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. ที่ให้บริการประชาชนทั่วไปในการฝึกฝนอาชีพและทักษะด้านต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมไปประกอบอาชีพของตนเอง เป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสตรีในชุมชน และเป็นศูนย์กลางในการประสานงานของเครือข่ายอาชีพสตรีและครอบครัวในชุมชน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภายในศูนย์ประกอบด้วยร้านกาแฟ เบเกอรี่ อาหาร นวดแผนไทย สปา เสริมสวยสตรี และตัดผมบุรุษ ฯลฯ
อย่างไรก็ตามได้มอบนโยบายในการขับเคลื่อนงานให้แก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์ฯ ที่สามารถฝึกทักษะให้สตรีที่ขาดโอกาสหรือกลุ่มเสี่ยง ไปประกอบอาชีพเป็นของตนเองได้ ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทั้ง 2 แห่งดังกล่าว เป็นการติดตามการดำเนินการพัฒนาชุมชน พัฒนาอาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ และเป็นการให้โอกาสสตรีที่ขาดโอกาส ได้รับการฝึกฝนอาชีพ และทักษะด้านต่างๆ สามารถออกไปประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ในระยะยาวต่อไป
###############################
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น