pearleus

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มท.1 ประชุม บกปภ.ช. ติดตามแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้

เมื่อ 3 ก.พ.60 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการปฏิบัติงานตามแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกัน ระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามโครงสร้าง บกปภ.ช. และผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ
        ในโอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า การประชุมของ บกปภ.ช. ในวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาวามเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มกำลังความสามารถและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดยมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ในการดำเนินงานของทุกหน่วย ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10ที่พระราชทานหลักการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ได้พ้นจากทุกข์และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข  ตลอดจนการวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน  ซึ่งขณะนี้ในภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ บกปภ.ช. ประสานจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงการวางมาตรการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีวิต สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น มีทั้งเสียหายทั้งหลัง เสียหายบางส่วน และเสียหายเล็กน้อย ได้เร่งให้ดำเนินการซ่อมแซมไปแล้ว โดยสั่งการให้จังหวัดจัดทีมช่างตำบล โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยทหาร นักเรียนอาชีวะ ช่างท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายโดยเร็ว สำหรับบ้านที่เสียหายทั้งหลังจะใช้แบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง และใช้งบในการก่อสร้าง (เฉพาะค่าวัสดุ) จากการสนับสนุนของสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำหนดกรอบแนวทางแผนการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ที่ครอบคลุมทุกมิติ แยกเป็น 16 ด้าน  อาทิ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ด้านการประกอบอาชีพ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นต้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในแต่ละด้านจะดำเนินการจัดทำแผนงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป
        สำหรับบางจังหวัดที่ยังมีพื้นที่น้ำท่วมขัง ได้สั่งการให้จังหวัดเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม และเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว รวมทั้งเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายตามแนวทางที่ได้กำหนดให้จังหวัดสำรวจและประเมินความเสียหายที่มีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยแยกตามประเภทพร้อมกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ครอบคลุมในทุกด้าน
        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะยาว จะมุ่งเน้นการป้องกันเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบ โดยน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้สานต่อแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ในการวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีการดำเนินงานภายใต้แนวคิด "Build Back Better" ในการฟื้นฟู ซ่อมสร้าง และพัฒนาให้ดีกว่าเดิม โดยมีการวางระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ มีการสำรวจและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำไหล การขุดคูคลองเพื่อเพิ่มเส้นทางระบายน้ำ การวางท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน (Block Culvent) การยกและเสริมผิวการจราจรบนเส้นทางน้ำท่วม เป็นต้น รวมถึงการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน มาบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ รัฐบาล โดย บกปภ.ช. ได้มุ่งเน้นการบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ควบคู่การวางระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติ ตามกรอบเซนได เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตอย่างยั่งยืน






0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น