pearleus

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เกษตรสมุทรสาครร่วมรณรงค์การควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยวิธีที่เหมาะสม

    นายเศรณี อนิลบล เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าในปัจจุบันยังมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายอยู่ แม้ว่าในขณะนี้มีฝนตกในพื้นที่ทำให้เห็นสภาพทั่วไปว่าการระบาดไม่รุนแรง แต่ถ้าเกษตรกรวางใจ ไม่ร่วมมือกันสำรวจสถานการณ์การระบาดและเลี้ยงแตนเบียนบราคอนปล่อยสู่ธรรมชาติ เมื่อเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว จะทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงและยากต่อการป้องกันกำจัด จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวร่วมมือ ร่วมใจในการควบคุมการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ดังนี้
                1. ตัดทางใบมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายมาเผาไฟทันที เพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว เป็นการกำจัดทั้งระยะไข่ ระยะหนอน และระยะดักแด้
                2. ใช้เชื้อแบคทีเรีย (BT) ฉีดพ่นบริเวณใบมะพร้าว เพื่อกำจัดระยะหนอน อัตรา 80 - 100 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบตามอัตราที่แนะนำในฉลาก ฉีดพ่น 3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน ในช่วงเวลาตอนเย็น
                3. ปล่อยแตนเบียนควบคุมกำจัดและสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ
                              3.1 ปล่อยแตนเบียนไข่ตริโกรแกรมม่า เพื่อทำลายระยะไข่ อัตราไร่ละ 20,000 ตัว 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
                     3.2 ปล่อยแตนเบียนหนอนบราคอน (Bracon hebetor) เพื่อควบคุมกำจัดระยะหนอน อัตราอย่างน้อย 200 ตัว /ไร่ ปล่อยทุก 15 วัน ติดต่อกัน 6 เดือน
                     3.3 ปล่อยแตนเบียนโกนีโอซัสนีแฟนติดิส เพื่อกำจัดระยะหนอน อัตรา 50-100 ตัว/ไร่ ปล่อย   3 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกัน 1 เดือน
                4. ใช้สารเคมีฉีดพ่นทางใบ กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ด้วยวิธีการฉีดพ่นสารเคมีทางใบ
                    เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางหรือปัจจัยที่ให้การควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวประสบผลสำเร็จ ควรดำเนินการ ดังนี้
                - ให้เกษตรกรตระหนักถึงภัยของหนอนหัวดำมะพร้าว โดยให้มีการสำรวจ ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง
                - เกษตรกรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม สามารถปฏิบัติได้
                - ต้องร่วมบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่
                - มีการเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินผล
                หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร โทร/โทรสาร.       034-426995 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน
ข่าว  นางอรวีณ์ จุฑาวรรธนะ

กลุ่มอารักขาพืช

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น