กรมสบส.บุกรวบตัว “หมอฟันเถื่อน” ที่คลินิกฟันชื่อดัง
ย่านบางเขน ยังเป็นเพียงนักศึกษา
รับงานที่คลินิกทันตกรรมหลายแห่ง พร้อมสั่งปิดคลินิก 30 วัน
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนำทีมเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย
และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. บุกจับ หมอฟันเถื่อนในคลินิกทันตกรรม
ชื่อดังที่ย่านบางเขน กทม.
ขณะกำลังเรียนทันตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอกชน 8 ปี
ยังไม่จบ แต่แสดงตัวเป็นทันตแพทย์ขูดหินปูน ในช่วงวันเสาร์
อาทิตย์ และ มีพฤติกรรมตระเวนจัดฟัน ขุดหินปูน
ถอนฟันอีกหลายคลินิก ดำเนินคดีทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
และทันตแพทย์จริงที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลในข้อหาปล่อยผู้อื่นที่ไม่ใช่ทันตแพทย์มาดำเนินการ
พร้อมทั้งสั่งปิดคลินิกเป็นเวลา 30 วัน
ระบุขณะนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานพยาบาล หมอ
ทันตแพทย์จริงที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทันตแพทยสภา และแพทยสภา
เมื่อ 9 กรกฎาคม 2559 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง
ไตรเรืองวรวัฒน์
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ภัทรพล
จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
นำทีมเจ้าหน้าที่กฎหมายและพ.ต.ท.อภิชัย ไลออน รองผู้กำกับการกอง 4
กองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
บุกรวบตัวหมอฟันเถื่อนที่คลินิกทันตกรรม เด็นตัลวันคลินิก
ตั้งอยู่เลขที่ 76/52 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์
บางเขน กทม. หลังจากได้รับร้องเรียนจากประชาชนผู้เข้าไปใช้บริการว่าคลินิกแห่งนี้
มีการใช้บุคลากรที่ไม่ใช่ทันตแพทย์และไม่มีใบประกอบประกอบวิชาชีพทันตกรรมมาให้บริการ
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวว่า จากการสอบสวนพบว่า คลินิกทันตกรรมเดนทัลวันคิลินิก
มีทันตแพทย์หญิงกฤษณีย์ พรธิติเนศ
เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาล เปิดให้บริการตั้งแต่พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา
คลินิกแห่งนี้มีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล
และดำเนินการสถานพยาบาลถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 แต่นำทันตแพทย์เถื่อน ซึ่งเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ คณะทันตแพทย์
ปีที่ 8 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งย่านรังสิต
อายุ 27 ปี
มาให้บริการทำฟันที่คลินิกแห่งนี้ในวันเสาร์ อาทิตย์ และยังออกใบรับรองแพทย์ให้ประชาชนในนามของทันตแพทย์หญิงกฤษณีย์ พรธิติเนศ
ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์จะไปเรียนที่คณะทันตแพทย์ จากการสอบประวัติจากคณบดียังพบว่ารายนี้มีพฤติกรรมไปรับงานที่คลินิกทันตกรรมอื่นๆ
เช่นทำฟัน จัดฟัน ขูดหินปูน อยู่ประจำ
ทั้งนี้ได้แจ้งข้อหาบุคคลทั้ง 2 ประกอบด้วย
1. ตัวนักศึกษาทันตแพทย์ ในข้อหาประกอบวิชาชีพทันตกรรม
โดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรมพ.ศ. 2537
มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.
ดำเนินคดีทันตแพทย์หญิงกฤษณีย์ พรธิติเนศ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
ในข้อหาปล่อยผู้อื่นที่ไม่ใช่ทันตแพทย์มาดำเนินการแทน ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล
พ.ศ.2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรมสบส.ได้สั่งปิดคลินิกแห่งนี้เป็นเวลา30 วันด้วย
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองฯ
กล่าวต่อว่า ในการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล หรือคลินิกทุกประเภท
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรักษาโรคทั่วไป ทำฟัน ประชาชนสามารถตรวจสอบผู้ให้การรักษา
ว่าเป็นแพทย์หรือทันตแพทย์จริงหรือไม่ จากเว็บไซต์ของแพทยสภา
และทันตแพทยสภา โดยพิมพ์ชื่อ-นามสกุล ของแพทย์ ทันตแพทย์ที่ให้บริการ
ก็จะรู้ทันที หากไม่มีชื่อปรากฏแสดงว่าเป็นหมอเถื่อน ส่วนสถานพยาบาล
และคลินิกก็สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (http://hss.moph.go.th) โดยพิมพ์ชื่อสถานพยาบาลเป็นภาษาไทย สะกดให้ถูกต้อง ก็จะทราบทันที ซึ่งในเว็บไซต์จะบอกจำนวนสาขา สถานที่ตั้งอย่างชัดเจน
ด้านนายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล
ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรม สบส.
ขอเน้นย้ำให้แพทย์ ทันตแพทย์ และสถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาล พ.ศ.2541 สถานที่
แพทย์หรือทันตแพทย์ เครื่องมือ และเวชภัณฑ์ต้องได้มาตรฐาน ปลอดภัย
หากผู้ใดฝ่าฝืน กรม สบส. จะดำเนินการตามกฎหมายทันที
โดยประชาชนสามารถสังเกตสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานได้จากหลักฐาน 5 ประการ ดังนี้ 1.มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต
13 หลักติดอยู่ที่หน้าสถานพยาบาล 2.มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และดำเนินการสถานพยาบาลที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข 3.มีป้ายชื่อ สกุล รูปถ่ายของแพทย์ ทันตแพทย์ ที่ตรวจรักษา
พร้อมกับใบอนุญาตการประกอบโรคศิลปะของแพทย์รายนั้นติดหน้าห้องตรวจ โดยรูปต้องตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้น
4.มีหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีปัจจุบัน และ5.แสดงอัตราค่ารักษา สอบถามราคาได้
หากมีหลักฐานไม่ครบถ้วนตามที่กล่าวมาแสดงว่าไม่ได้มาตรฐานและขอให้แจ้งที่เฟชบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน, เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 02-193-7999 กรม สบส. จะดำเนินการทางกฎหมายทันที
ปัจจุบัน
กรมสบส.ขึ้นทะเบียนคลินิกทันตกรรมทั่วประเทศจำนวน 4,276 แห่ง อยู่ในกทม.
1468 แห่ง ต่างจังหวัด 2808 แห่ง
มี 3 ประเภท ได้แก่คลินิทันตกรรมทั่วไป
4171 แห่ง คลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง 73 แห่ง
และคลินิกทันตกรรมชั้นสอง 32 แห่ง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น