pearleus

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

'ในความเป็นชาติ'


เหตุเกิดเมื่อคืนวันก่อนช่วงวันหยุด ข้าพเจ้าและครอบครัวไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟที่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นภาพที่แลเห็นแล้วอดชื่นใจไม่ได้ ข้าพเจ้าและครอบครัวนั่งอยู่ประมาณช่วงแถวกลางๆ ตรงติดริมทางเดินระหว่างซีกซ้ายและขวาของโรง จึงมองเห็นบริเวณที่นั่งด้านล่างได้อย่างชัดเจน ทันใดนั้น หลังภาพยนตร์โฆษณาต่างๆ จบลง มีภาพฉายขึ้นบนหน้าจอว่า โปรดยืนถวายความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกันพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าแลเห็นชาวตะวันตกครอบครัวหนึ่ง ที่น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวซึ่งนั่งอยู่แถวหน้าๆ ลงไป มองดูเข้าใจว่าผู้เป็นภริยาที่หันมามองแถวนั่งด้านหลัง เพราะแถวหน้าจากเธอไปไม่มีผู้นั่งชม เมื่อเห็นคนไทยลุกขึ้นยืนอย่างพร้อมเพรียง ข้าพเจ้ามองเห็นเธอบอกกล่าวกับหลายๆ คนในครอบครัวที่เข้าใจว่ามีทั้งสามีและลูกสาวลูกชายเล็กๆ ลุกขึ้นยืนด้วยความสำรวมเรียบร้อยจนเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงจบลง

อธิบายให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชนชาติต่างๆ ที่มีความรักความภาคภูมิใจ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ชาติต่อชาติ ประชาชนต่อประชาชน และต่างได้หวงแหนดำรงรักษา ถือเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของแผ่นดิน ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อครั้งเดินทางไปราชการ ในบางประเทศที่มีความอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม เมื่อจะมีพิธีกรรมทางศาสนาประจำวัน บุคคลต่างศาสนาจะต้องรีบเดินเข้าไปยังห้องที่จัดเตรียมไว้ทันทีในจุดต่างๆ ตามสถานที่สาธารณะ เมื่อมีการประกาศเสียงดังฟังชัดผ่านลำโพงขนาดใหญ่ตามท้องถนนหลวง และต้องรออยู่ในห้องแห่งนั้นพักใหญ่จนกว่าพิธีกรรมจะจบลง หรือในประเทศสหราชอาณาจักรเมื่อมีการบรรเลงเพลงขอพระเจ้าทรงคุ้มครองสมเด็จพระราชินีนาถ ทุกคนจะขับร้องตามด้วยความภูมิใจและจบท้ายด้วยคำว่า เดอะควีน เช่นเดียวกับประเทศไทยของเรา ที่คนไทยต่างยึดมั่นในความจงรักภักดี รักเคารพและเทิดทูนล้นเกล้าฯ ดวงใจไทยทั้งชาติอย่างสุดพรรณนา

ผู้พูดหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างขาดวิจารณญาณอันควรในเรื่องใดๆ ทางจารีตประเพณี น่าจะเป็นเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ชีวิต สมควรที่ผู้ใหญ่ควรให้อภัยและครูอาจารย์ให้โอกาสในการศึกษาเรียนรู้ในความเป็นจริงของการดำรงชีวิตอีกยาวไกล ลูกหลานไทยเคารพรักบุพการีชน ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เรากราบบูชาคุณงามความดีของท่านทั้งหลายผู้มีบุญคุณใหญ่หลวง ในความเป็นชาติของลูกหลานไทยที่ไม่ใช่เรื่องง่ายซึ่งบรรพชนได้หวงแหนดำรงรักษามาได้ตราบทุกวันนี้ เรื่องเกิดขึ้นในประเทศใดๆ ย่อมเป็นเรื่องที่คนของเขาจะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง จะเปรียบเทียบกันไม่ได้ในทุกเรื่องไป เรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ถือเป็นเรื่องที่แต่ละชาติพันธุ์แต่และประเทศแต่ละศาสนาย่อมมีกรณีศึกษาเป็นเฉพาะของตนและสังคม การที่สหราชอาณาจักรออกจากประชาคมยุโรปถือเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวอังกฤษครุ่นคิดเป็นอันมากมาเป็นเวลาพอสมควรก่อนเกิดการตัดสินใจ อันเชื่อมโยงถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจยุโรป การเมืองในสหรัฐฯ รัสเซีย จีน แม้แต่ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และอินเดีย รวมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ หรือเหตุการณ์ที่เมืองนีสกลายเป็นการกระทำของคนสัญชาติฝรั่งเศสเองแต่ต่างที่มาทางวัฒนธรรม ศาสนา และปรัชญาทางความคิด และเหตุการณ์ในประเทศตุรกี ที่บทบาทของกองทัพและรัฐบาลเลือกตั้งต่างผ่านร้อนผ่านหนาวควบคู่มาด้วยกันช้านานมาก ประเทศไทย-สาธารณรัฐตุรกีมีสัมพันธภาพมาตั้งแต่ครั้งสยามประเทศ โดยสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปทรงเจริญพระราชไมตรีแทนพระองค์ ปัญหาในเวลานี้จึงไม่สมควรที่ประเทศไทยจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว วิพากษ์วิจารณ์ เปรียบเทียบ ด้วยมีหลายสิ่งหลายอย่างทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับนานาอารยประเทศหรือมหาประเทศ อันถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก

/จากเอกสารทางวิชาการหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

*โปรดอย่าดัดแปลงเนื้อหาสาระหรือเพิ่มเติมข้อความในบทความทางวิชาการฉบับนี้


๒๐ ก.ค. ๕๙

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น