เมื่อ 24 มี.ค. 59 เวลา13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่2/2559 เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2559 พร้อมพิจารณาสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจจับผู้กระทำความผิด การปรับปรุงแก้ไขฐานความผิดและบทลงโทษให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงบูรณาการฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นระบบ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)
เปิดเผยว่า
อุบัติเหตุทางถนนนับเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
โดยรัฐบาลได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา
ศปถ.ได้เตรียมความพร้อมในการลดอุบัติเหตุทางถนน
โดยกำหนดแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2559 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานช่วงเทศกาลดังกล่าว
และเป็นที่ทราบแล้วว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ อาทิเช่น การขับรถเร็ว
การเมาสุราแล้วขับรถ เป็นต้น ซึ่งได้มีการรณรงค์มาโดยตลอด
พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ในการป้องกันอุบัติเหติเพื่อลดความสูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการดำเนินการ ดังนั้น
ขอให้ทุกหน่วยช่วยกันดำเนินการตามมาตรการต่างๆ
อย่างจริงจังเพื่อให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
สำหรับปัจจัยที่ต้องดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ได้แก่ 1.ในการป้องกันและลดความสูญเสีย
โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามมาตรการและขอให้ดำเนินการอย่างจริงจัง
เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น
การไม่ขับรถเร็ว การขับรถไม่ประมาท และการเมาสุราแล้วขับรถ และ 2.การใช้น้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะนี้เราประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ
และมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยเฉพาะช่วงเทศกาล
ควรรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า
และถือปฏิบัติตามประเพณีอันดีงามที่ควรอนุรักษ์เชิงสร้างสรรค์ และเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม
โดยในส่วนภูมิภาคให้ดำเนินการป้องกันปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย
สร้างวินัยจราจร” และดำเนินการตาม 5
มาตรการหลัก ได้แก่ 1.มาตรการด้านการบริหารจัดการ ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุโดยใช้กลไกในส่วนกลาง
ภูมิภาค และระดับพื้นที่พร้อมส่งเสริมชุมชนร่วมลดอุบัติเหตุทางถนน 2.มาตรการด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย
ปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงบนถนนและสภาพแวดล้อมริมทางให้ปลอดภัย
และวางแผนอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน 3.มาตรการด้านยานพาหนะปลอดภัย
ตรวจสอบยานพาหนะให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ 4.มาตรการผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด และรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน 5.มาตรการด้านการตอบสนองหลังเกิดเหตุ เตรียมพร้อมทีมกู้ชีพกู้ภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ณ จุดเกิดเหตุ อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ
ยังได้พิจารณาการสนับสนุนอุปกรณ์ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร
เพื่อให้กลไกการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุ
ทั้งการขับรถเร็วและเมาแล้วขับ รวมถึงผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไข
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
กรณีเมาสุราขณะขับรถให้มีการบัญญัติฐานความผิดและบทลงโทษครอบคลุมผู้ขับขี่รถจักรยาน
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่นิยมใช้รถจักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทางมากขึ้น
นอกจากนี้ ได้พิจารณาการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
จำกัดพร้อมบูรณาการฐานข้อมูลให้ครอบคลุมทุกมิติ
เพื่อนำไปใช้ในการติดตามประเมินผลและวางแผนแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน
ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน
ซึ่งจะช่วยยกระดับการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยให้มีมาตรฐานสากล
และถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระ “ประเทศไทยปลอดภัย (Safety
Thailand)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย
ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันรณรงค์และดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
โดยมุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่
โดยเฉพาะการควบคุมการใช้ความเร็วในการขับรถ การเมาสุราแล้วขับ รวมถึง
การแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ
เพื่อสร้างความปลอดภัยจากการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ตลอดจนการคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงจากการเล่นน้ำที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
และส่งเสริมการเล่นน้ำตามประเพณีเพื่อความสวยงามและปลอดภัย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น