เมื่อ 10 มี.ค. 59 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุธี มากบุญ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในส่วนภูมิภาค ให้แก่
ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม
ประกอบด้วย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,190 แห่ง จำนวน 2,380คน และกำนันทุกตำบล จำนวน
1,037 คน ผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดสงขลา จำนวน 861 คน
และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคใต้
ที่รับชมผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมที่แต่ละจังหวัดได้จัดเตรียมไว้
ในช่วงเช้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกล่าวว่าการมอบนโยบายในครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการทำงานของรัฐบาลและรับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่นเพื่อรับทราบปัญหาการทำงานในพื้นที่
ซึ่งรัฐบาลมีคาดหวังต่อบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ หากทุกคนช่วยกันพัฒนาพื้นที่ของตนเองด้วยความตั้งใจเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนมีความอยู่ดี
กินดี อย่างแน่นอน
สำหรับการบริหารงานของท้องถิ่นนั้น ขอให้ยึดรูปแบบ “ประชารัฐ” มีกลไกช่วยเหลือและร่วมมือกันทำงาน การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ขอให้วางแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาวเชื่อมโยงทุกเรื่องทั้งเศรษฐกิจ สังคม
ความมั่นคง หรืออื่นๆ
ต้องให้ประสานสอดคล้องกันต้องมีจุดเริ่มต้นจากข้อเท็จจริงในพื้นที่
สะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด
และยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอทั้งหมดนี้ต้องไปยึดโยงกับการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ในเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีย้ำว่าให้ดูยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลัก
ส่วนงานตามภารกิจ (Function) เป็นรอง เราต้องมีการวางยุทธศาสตร์โดยรวมและมีทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในอนาคตท้องถิ่นจะเป็นหลักพึ่งพิงของประชาชนมากขึ้น
ส่วนกลางก็จะมีการโอนภารกิจต่างๆ มาให้ท้องถิ่นดำเนินการ
บทบาทความรับผิดชอบของท้องถิ่นก็จะมากขึ้น กระทรวงต่างๆ
ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยตามบทบาทภารกิจของแต่ละกระทรวง จนมาถึงจังหวัด อำเภอ
ถึงพื้นที่ของท้องถิ่น ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และผนึกกำลังทั้งท้องที่และท้องถิ่นอย่างประสานเกื้อหนุนเกื้อกูล
โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน
เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นความเลวร้ายและเป็นภัยกับลูกหลานของเราทุกคน
ขอฝากให้ช่วยกันดูแลรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ตอนนี้เราจะมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ดีขึ้น
จะอยู่เฉยๆ กันไม่ได้ต้องช่วยกันดูแลในท้องที่ของตนเองให้ดี
โดยนำแนวทางที่ได้มอบนโยบายไปแล้วมาปรับใช้ในการทำงานมียุทธศาสตร์การทำงานในระยะยาว
และให้ช่วยสนับสนุนหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เช่น
การข่าวในพื้นที่ กำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น เรื่องการรักษาความสะอาด
และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปัญหาขยะ ปัญหาผักตบชวาและวัชพืช
ปัญหาสภาพภูมิทัศน์ในพื้นที่ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ ให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
จากนั้น ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แสดงความคิดเห็น
ซักถามในประเด็นต่างๆ เพื่อนำข้อเสนอแนะหรือปัญหาต่างๆที่ได้รับฟังมาสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาการทำงานของท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เวลา 13.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายให้แก่กำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน โดยในวาระแรกได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลกล่าวขอบคุณกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้ร่วมกันทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอดทำให้งานต่างๆ
สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ สำหรับเรื่องแรกที่ต้องการชี้แจงทำความเข้าใจ คือ เรื่องแนวทางการบริหารงานของรัฐบาล
ปี 2559 – 2560 ที่จะเน้นการบริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์และมีแผนในระยะยาว โดยนำยุทธศาสตร์ชาติมาเชื่อมโยงกับแผนงาน /โครงการที่จะลงไปในพื้นที่
สำหรับในพื้นที่ให้นำแนวทาง “ประชารัฐ”
มาใช้เพื่อสะท้อนปัญหาจากข้างล่างขึ้นมา เช่น โครงการตำบลละ 5 ล้าน
และต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดขึ้นมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ข้างบน นี้คือกรอบการทำงานของรัฐบาลที่ต้องยึดถือปฏิบัติกันต่อไป
สำหรับงานตามบทบาทภารกิจที่ได้เน้นย้ำมีดังนี้ 1. เรื่องปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชาติผู้นำท้องที่ต้องหาวิธีปราบปราม
สกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของตนเอง ร่วมกับ ทหาร ตำรวจ คือ
ต้องลดเรื่อง Supply (อุปทาน) ส่วนเรื่อง Demand (อุปสงค์)หรือ ความต้องการเสพ
ให้เข้าไปดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้วหรือผู้พ้นโทษที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้หวนกลับไปใช่สารเสพติดอีกต้องแก้ไขปัญหา
“คน” ให้ได้อย่างยั่งยืน 2.เรื่องการสร้างความเข้าใจกับ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ขอให้นำข้อมูลต่างๆ
จากGovernment Application Center (GAC) แล้วเข้าไปที่ Gnews ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐที่ถูกต้อง
สะดวกต่อการค้นหาสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาจากอุปกรณ์มือถือ
แล้วนำข้อมูลเรื่องต่างๆ เช่น สถานการณ์น้ำ ภัยแล้ง
หรือเรื่องอื่นๆที่สำคัญที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ
ลงไปสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนอย่างถูกต้อง กำนัน
ผู้ใหญ่บ้านต้องสามารถบอกประชาชนได้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่และไปรับทราบปัญหา
ในพื้นที่ขึ้นมาแก้ไข “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คือ
กลไกของรัฐที่ต้องรับผิดชอบงานของทุกกระทรวงที่ลงไปในพื้นที่ นี่คือภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน” 3.เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอฝากให้ทั้งท้องที่ ท้องถิ่น
น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงขอให้เป็นแกนนำ ในการเปลี่ยนแปลง เป็นแบบอย่างในการลดความฟุ่มเฟื่อย
นำไปสอนเด็กและเยาวชนของเราให้เข็มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน
ถ้าทุกคนช่วยกันทำในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบสังคมก็จะดีขึ้น 4. เรื่องความปรองดองของคนในชาติย้ำว่าประเทศไทยจะกลับไปขัดแย้งกันอีกไม่ได้
เพราะผลร้ายจะเกิดขึ้นกับคนในชาติของเราเอง
เราขัดแย้งกันเรื่องของความคิดเห็นที่ชอบ หรือไม่ชอบไม่ตรงกัน
ซึ่งถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความร้าวฉาน ทะเลาะ เบาะแว้งกันทั้งประเทศ
ทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนา ทั้งที่ประเทศของเรามีทรัพยากรมหาศาล
คนไทยเป็นคนมีความเมตตา เรามีสถานที่ท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางในอาเซียนมีสิ่งดีๆ
มากมาย แต่เราเสียเวลากับความขัดแย้งความบาดหมางกันเอง ดังนั้น
จะให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอีกไม่ได้ คนมหาดไทยต้องเป็นกลไกช่วยดูแลอย่าให้คนไทยต้องทะเลาะเบาะแว้งกันอีก 5. เรื่องรัฐธรรมนูญ ขอให้กำนัน
ผู้ใหญ่บ้านศึกษาทำความเข้าใจเพื่อนำไปอธิบายชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบถึงเนื้อหาสาระสำคัญที่ถูกต้อง
สุดท้าย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดโอกาสให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
แสดงความคิดเห็นและสอบถามปัญหา ข้อสงสัยและได้ให้กำลังใจในการทำงานของฝ่ายปกครองที่ได้ทุ่มเท
เสียสละ เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม ประเทศชาติ และประชาชน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น