เมื่อ 11 ก.พ. 59 เวลา 14.00 น. ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงมอบนโยบาย “การขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตรและชนบท” ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง (NBT) เพื่อชี้แจงนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานภาคี แกนนำหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ทีมประเทศไทยตำบล หรือทีมประชารัฐ ซึ่งเข้าร่วมรับฟังที่ห้องประชุมจังหวัดทุกจังหวัด ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่รับชมการถ่ายทอดสดได้รับทราบถึงนโยบายและยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ เกิดความเข้าใจและการมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ร่วมชี้แจงนโยบาย ประกอบด้วย นายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
โดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าในหลายๆ ด้านทั้งในด้านเทคโนโลยี การสื่อสารต่างๆ แต่เราพบว่าสังคมไทยมีปัญหา รัฐบาลจึงได้น้อมนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ยึดบนทางสายกลางภายใต้ “3 ห่วง2 เงื่อนไข” คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตนเอง มาเป็นแนวทางดำเนินการและพัฒนาเชิงพื้นที่ สร้างกระบวนการพัฒนาบนฐานความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ลดลง ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาโดยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี และระยะสั้น 5 ปี ซึ่งได้ประมวลให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาว ยึดโยงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นงานความมั่นคง งานพื้นที่ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการพัฒนาที่ไม่สมดุลนั้นก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาก เราจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ.2557-2560) ขึ้น ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์สำคัญทั้งด้านการเกษตร การศึกษา เศรษฐกิจ ธุรกิจ ความมั่นคง การต่างประเทศ นำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลพร้อมๆ กัน
สำหรับประเทศไทยเรามีประชาชนในภาคการเกษตรกว่า 30 ล้านคน ถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศการขับเคลื่อนจะต้องทำไปพร้อมกัน โดยดูเรื่องของ “ปัจจัยการผลิต” ได้แก่ ที่ดิน แหล่งน้ำ การลดรายจ่าย โดย2 เรื่องหลักสำคัญ คือ 1.เรื่องของที่ดิน รัฐบาลได้พยายามหาทางช่วยเหลือให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน โดยได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อจัดระบบและจัดระเบียบที่ดินให้ประชาชนได้เข้าทำกินในที่ดินประเภทต่างๆ แต่ไม่ได้ครอบครองกรรมสิทธิ์เพื่อป้องกันการนำที่ดินไปขายต่อ ซึ่งเราจะมีคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการจัดสรรที่ทำกินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ รวมถึงการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ เช่น การควบคุม-ลดค่าเช่านา เป็นต้น 2. ด้านแหล่งน้ำประเทศไทยทำเกษตรกรรมโดยอาศัยแหล่งน้ำ จากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าไม่มีวิธีบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจะมีปัญหา ปัจจุบันเรามีน้ำในระบบชลประทานประมาณร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งเริ่มมีปัญหารัฐบาลจึงหันมาใช้วิธีพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือด้านแหล่งน้ำ และน้อมนำหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” เพื่อการบริหารจัดการแบ่งพื้นที่ ที่ดิน น้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
2. เรื่องการลดรายจ่าย คือ เราต้องให้ประชาชนรู้ตัวเองก่อน โดยการแนะนำให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และให้อาศัยหลักการ “พึ่งพาอาศัยกัน” “การแบ่งปัน – การรวมกลุ่ม” ด้วยตนเองก่อน โดยให้คิดเอง ทำเอง “ระเบิดจากข้างใน โดยมีราชการเป็นพี่เลี้ยง เราจะเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ “Area based” โดยใช้ “กลไกประชารัฐ” และบูรณาการร่วมกันทุกกระทรวง เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดความเหลื่อล้ำในสังคม โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ทั้งปัจจัยการผลิต การให้ความรู้ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาชนไม่อ้างว้าง เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันด้วยการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางพระราชดำริ หากสภาพพื้นที่มีความพร้อม ประชาชนมีความรู้ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย และ สำนักงาน กปร. ได้รับผิดชอบใน 2 เรื่อง สำคัญ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำ และ การลดรายจ่าย เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไปในอนาคต จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันตรวจสอบว่ามีแหล่งน้ำในพื้น/ปริมาณน้ำต้นทุนมีเท่าไหร่ มีความต้องการใช้น้ำอย่างไร เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่ต้องรู้ต้นทุนของตนเอง จากนั้น ต้องมีการจัดทำแผนชุมชน โดยคณะทำงานชุดต่างๆ จะลงไปดู แล้วเสนอแผนงาน/โครงการขึ้นมาตามลำดับ
ด้านการ “ลดรายจ่าย” ขอให้เริ่มจากการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทราบว่าแต่ละวันเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ต้องลดรายจ่ายในเรื่องใดบ้าง “ต้องจดบันทึกไว้” นี้เป็นสิ่งสำคัญเมื่อเรารู้ว่ามีรายจ่ายอะไรบ้างแล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่าเราต้องลดอะไร สิ่งนี้คือ “การเก็บข้อมูล” จะได้นำมาใช้ประโยชน์ จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจและทราบถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง และรวบรวมจัดทำเป็นฐานข้อมูล จัดทำแผนชุมชนเสนอมา โดยนายอำเภอและคณะทำงานจะเสนอแผนมาที่กระทรวงมหาดไทย แล้ววิเคราะห์ว่าแผนนั้นสอดคล้องกับชุมชนหรือไม่ จากนั้นเราจะจัดสรรงบประมาณลงไปช่วยเหลือและพัฒนาตามความต้องการของชุมชน โดยในระยะแรกนี้มีหมู่บ้านพื้นที่เป้าหมายจำนวน 23,587 หมู่บ้าน หรือประมาณร้อยละ 25 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ
สุดท้ายปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ย้ำถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้ว่าถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งภัยแล้ง วิกฤตราคาผลผลิตเศรษฐกิจตกต่ำเราจะปรับเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิตใหม่ให้ดีขึ้น โดยมีหลักการสำคัญว่าประชาชนต้องคิดเอง ทำเอง บนฐานความรู้ โดยมีราชการเป็นพี่เลี้ยง เราจะอยู่อย่างพอเพียง มีภูมิคุ้มกัน มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น