pearleus

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

มท.1 เข้มกลไกมหาดไทยทุกระดับพร้อมผนึกกำลังบูรณาการทุกหน่วยเดินหน้าสานต่องานแก้ไขปัญหายาเสพติดปี 2559 เน้นย้ำจริงจังทุกมิติตามนโยบายรัฐบาลสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยห่างไกลยาเสพติดอย่างยั่งยืน

           เมื่อ 15 ก.พ. 59  พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณผู้เข้าสู่การกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและนำคนออกจากวงจรการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เห็นผลอย่างชัดเจน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดปี 2559 เพื่อให้ทุกหน่วยงาน   ที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
          กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีภารกิจเชื่อมโยงทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม และการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้กำหนดแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในปี 2559 เพื่อเป็นกรอบทิศทางการทำงานอย่างบูรณาการทั้งในระดับกระทรวง จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน/ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันในด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูก็ได้มีการพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานต่างๆ ตามหลักวิชาการ ซึ่งจะลงลึกไปถึงการปรับทัศนคติของผู้เข้ารับการบำบัด โดยมุ่งหวัง     ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน และสังคมซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยกัน    เฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาดูแลไม่ให้ผู้ผ่านการบำบัดหวนกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก ตลอดจนการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ดังนี้  
          1. ด้านการป้องกัน เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป ผ่านโครงการสำคัญ อาทิเช่น การจัดอบรมเยาวชนอาสารักษาดินแดนต้านภัยยาเสพติด การจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการ     โดยใช้แนวทางการประสานและบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่จัดระเบียบสังคมมุ่งเน้นพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ สถานบริการ หอพัก ร้านเกมส์ พื้นที่รอบสถานศึกษา โรงงาน เพื่อมิให้มีการกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ   “ชุดปฏิบัติการประจำตำบลและการรณรงค์ป้องกันให้ความรู้แก่ประชาชน ตลอดจนการสร้างเสริมสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด ได้แก่ การติดตั้งกล้องCCTV สร้างพื้นที่เชิงบวกลานกีฬา เพื่อใช้จัดกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
          การสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้มีการติดตามสถานการณ์และประเมินสภาพปัญหายาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 81,905 แห่ง พบว่ามีหมู่บ้านที่มีปัญหามาก 7,558 แห่ง และที่ไม่มีปัญหา 38,142 แห่ง ซึ่งกลไกของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ได้เข้าสร้างความเข้มแข็ง ให้หมู่บ้าน/ชุมชนแล้ว 64,431 แห่ง และในปีนี้ยังคงมีการติดตามสถานการณ์และการประเมินสถานะหมู่บ้าน/ชุมชน อย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดชุดปฏิบัติการลงเกาะติดพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมาขยายผลและกำหนดแนวทางเพื่อให้กลไกที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาตามสภาพความรุนแรงของแต่ละพื้นที่ หากพบว่าพื้นที่ใดมีปัญหายาเสพติดระบาดก็จะมี ชุดปฏิบัติการต่างๆ ร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และหน่วยงานภาคีออกปฏิบัติการจัดระเบียบสังคม     ปิดล้อม ตรวจค้น กดดัน และดำเนินทุกมาตรการเพื่อจัดการกับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทุกกรณี สำหรับหมู่บ้านที่ไม่มีปัญหายาเสพติดก็จะเน้นการรักษาไว้ให้ยั่งยืน โดยใช้แนวทางรณรงค์ให้ความรู้ด้านยาเสพติด และใช้กลไกกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และภาคประชาชน เฝ้าระวัง สอดส่องดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หมู่บ้าน/ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถป้องกันปัญหายาเสพติดให้หมู่บ้าน/ชุมชนของตนเองให้ได้ผลอย่างยั่งยืนรวมทั้งจะเร่งดำเนินการขยายผล กองทุนแม่ของแผ่นดิน
          ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา และเป็นปีที่กองทุนแม่ของแผ่นดินดำเนินงานมาครบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทยที่ทรงห่วงใยต่อปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในสังคมไทย เป็นจุดกำเนิดของโครงการ “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” และได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 18,497 หมู่บ้าน/ชุมชน และในปีนี้กำหนดเป้าหมายขยายเพิ่มใหม่อีก จำนวน 878 แห่ง โดยจะเน้นเรื่องของคุณภาพและการขับเคลื่อนงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงาน ประสานกับศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคีต่างๆ
          2. ด้านการบำบัดและติดตามช่วยเหลือ โดยกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในระบบสมัครใจ “ค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน” ในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการบำบัดแล้วจำนวน 56,707 คน สำหรับแนวทางในปีนี้จะเร่งค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยจะเน้นเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานในการรักษา และจะคัดกรองผู้เสพผู้ติดยาเสพติดตามความรุนแรงของการใช้สารเสพติด เพื่อเข้ารับการบำบัดอย่างเหมาะสมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมทั้งจะเน้นการปรับทัศนคติและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ รวมไปจนถึงการเพิ่มหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้บำบัดยาเสพติดก่อนกลับสู่สังคม มีเป้าหมาย 55,300 คน ด้านการติดตามดูแลช่วยเหลือในทุกระบบ เน้นการทำงานเชิงรุกของ ทีมสหวิชาชีพ” (ผู้นำชุมชน สาธารณสุข) และกลไกของมหาดไทยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครต่างๆ ให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจอย่างเอื้ออาธรต่อผู้ผ่านการบำบัด โดยจะเข้าไปช่วยเหลือทั้งด้านอาชีพ การศึกษา สุขภาพ และอื่น ๆ ตลอดจนประสานการช่วยเหลือไปยังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้าร่วมสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมด้วย
3ด้านการปราบปราม จะดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการร่วมกับทหาร ตำรวจ ตั้งแต่ในระดับนโยบายจนถึงการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อปราบปรามผู้ค้าและเครือข่ายยาเสพติดทุกราย ขจัดผู้มีอิทธิพล ตัดวงจรการค้ายาเสพติด และพัฒนาระบบการสกัดกั้นลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดน - พื้นที่ตอนในทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และสร้างกลไก      ในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนชายแดนให้เข้มแข็ง พัฒนางานข่าวในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายที่มีการแพร่ระบาด และบูรณาการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนผ่านสายด่วน ศูนย์ดำรงธรรมซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามาจำนวนมาก การดำเนินโครงการ กวาดบ้านให้เป็นสีขาวเพื่อป้องปรามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงการดำเนินโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทางของโครงการหลวงและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปสร้างอาชีพให้กับประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อทดแทนการลักลอบปลูกฝิ่น รวมทั้งสร้างกลไกเฝ้าระวังมิให้มีการลักลอบปลูกฝิ่นในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่รัฐ
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากร     ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยตลอดจนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินทุกมาตรการเพื่อปราบปรามผู้กระทำผิด ควบคู่ไปกับการป้องกันสร้างภูมิกันให้กับประชาชนและสังคมไทย และจะเร่งช่วยเหลือให้โอกาสผู้ที่หลงผิดนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า มีกำลังใจ พร้อมกลับคืนเป็นคนดีของครอบครัวและสังคมด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็งไม่หวนกลับไปใช้สารเสพติดอีกต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น