สถ.สำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น
(ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ)
นายจรินทร์ จักกะพาก
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
ดำเนินการจัดทำแบบสำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น
(ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลปัญหาความต้องการพื้นฐานของประชาชน
รวมทั้งข้อมูลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
โดยให้ท้องถิ่นอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจข้อมูลให้ครบทุกหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อนำปัญหาความต้องการของประชาชนไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
การจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น”
โดยการสำรวจข้อมูลการเพาะปลูกพืชต่างๆของประชาชนและแหล่งน้ำ ทางการเกษตรที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ
รวมทั้งสภาวะการณ์ของน้ำอุปโภคบริโภคที่ดำรงอยู่จริงในชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อสะท้อนภาพของการดำเนินชีวิตที่รับรู้กันมาตลอดว่าเกษตรกรยากจน
(ต้นทุนสูง ราคาขายต่ำ ฯลฯ) ทั้งน้ำการเกษตรและน้ำกินน้ำใช้ไม่เพียงพอนั้น
แท้จริงเป็นอย่างไร จากการสำรวจจะทำให้รู้ว่าเกษตรกร ในหมู่บ้าน/ชุมชนต่างๆ ปลูกพืชชนิดใด
ผลผลิตต่อหน่วยเป็นอย่างไรมีต้นทุนการผลิตและราคาต่อหน่วยเท่าไหร่เมื่อนำมาเปรียบเทียบ
เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตประจำวันต่อไปได้หรือไม่ น้ำที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน
มีเพียงพอหรือไม่ น้ำอุปโภคบริโภค (น้ำกินน้ำใช้) ในหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นอย่างไร
มีแหล่งน้ำกินน้ำใช้ประเภทใดบ้าง เพียงพอและทั่วถึงหรือไม่ จึงนำไปสู่การทำ
“ประชาคม”ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้สะท้อนปัญหาความต้องการ
รวมทั้งแผนงานโครงการที่ต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการต่างๆ ช่วยเหลือ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะนำปัญหา
ความต้องการดังกล่าวไปจัดทำ “แผนพัฒนาท้องถิ่น”
ตามอำนาจหน้าที่และศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ
สามารถนำโครงการตามอำนาจหน้าที่
ลงไปดำเนินการในพื้นที่ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
แผนงาน/โครงการใดที่เป็นความต้องการของประชนแต่เกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดโดยผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(อบจ.)ในฐานะผู้ประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นของจังหวัด
ในขณะเดียวกันองค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถนำแผนงาน/โครงการดังกล่าวบรรจุไว้ในข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและจัดสรรงบประมาณสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
เช่นกัน การสำรวจเพื่อจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น”
จะนำไปสู่การสำรวจเพื่อจัดทำระบบข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านอื่นๆ
เช่นสวัสดิการสังคม (เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ) การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม
การท่องเที่ยว การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความคลอบคลุม มีประสิทธิภาพ
สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น