เมื่อ 1ก.พ. 59 ที่กระทรวงมหาดไทย
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า
ตามที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามตรวจสอบสภาพอากาศ
กับ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2559
(2 - 7 กุมภาพันธ์ 2559) บริเวณความกดอากาศสูง
หรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน
ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดฝนฟ้าคะนองและลมแรงในระยะแรก จากนั้นอากาศจะหนาวเย็นลงอีก 2 - 4 องศา
เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันอาจเกิดจากอากาศหนาวเย็นและมีลมแรง
ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดสั่งการไปยัง
ผู้ว่าราชการจังหวัด 37จังหวัด
ให้แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูง
และบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้ทราบเกี่ยวกับภัยอันตรายอันเกิดจากสภาวะอากาศเย็นและมีลมแรงในระยะ 5
- 6 วันนี้ ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ตลอดจนอาจส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร
จึงขอให้ระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติ
และเตรียมเครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้าให้เพียงพอและดูแลรักษาสุขภาพจากสภาพอากาศ ที่หนาวเย็น รวมถึงป้องกันทรัพย์สินบ้านเรือนจากลมแรง พร้อมเตือนเรื่องของอัคคีภัยจากการก่อกองไฟผิงคลายหนาว และการสัญจรขับขี่ยานพาหนะในช่วงที่มีปัญหาหมอกหนาโดยให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทางวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น
เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านและเครือข่ายวิทยุประชาสัมพันธ์ต่างๆ
ทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างรวดเร็วครอบคลุมทุกพื้นที่ และให้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสำรวจตรวจสอบความต้องการเครื่องกันหนาว
เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์
หากไม่เพียงพอให้เร่งประสานขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต
และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งให้ติดตามเฝ้าระวังเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด
เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า
ในขณะเดียวกันก็ได้สั่งการไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จำนวน 9 เขตที่รับผิดชอบพื้นที่ 37 จังหวัด
เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์หากเกิดสถานการณ์ภัยรุนแรงในจังหวัดใดให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่รับผิดชอบจังหวัดนั้นให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทันที พร้อมรายงานให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบ โดยจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกระยะจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น