มท.เผยยอดเบิกจ่ายมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน
คืบหน้าเกือบ 8 พันล้านบาท ย้ำทุกจังหวัดต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน
เมื่อ 13 ก.พ. 59
ที่กระทรวงมหาดไทย นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน
ซึ่งประกอบด้วยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
(โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) โครงการมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย
และโครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร
รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ขณะนี้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมาตรการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง
โดยได้มีการกระจายเม็ดเงินลงพื้นที่มียอดรวมการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการต่างๆ
แล้วเป็นจำนวนเงิน 7,913.44
ล้านบาท (ข้อมูล ณ 9 ก.พ. 59) ดังนี้ 1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
(ตำบลละ 5 ล้านบาท) ได้รับอนุมัติโครงการจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่แล้วจำนวน 120,198 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 92.07 จำนวนเงินที่อนุมัติแล้ว 35,423.60 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 4,021.87 ล้านบาท
และอยู่ระหว่างก่อหนี้ผูกพัน 7,979.54 ล้านบาท 2.มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ได้รับการอนุมัติและจัดสรรงบประมาณแล้วจำนวน
3,827 โครงการ เป็นเงิน 3,200.968
ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,297.19 ล้านบาท
และอยู่ระหว่างก่อหนี้ผูกพัน 712.35 ล้านบาท 3. โครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
จำนวน 421 รายการ เป็นเงิน 254.28 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 21 จังหวัด
เบิกจ่ายแล้ว 83.51 ล้านบาท และอยู่ระหว่างก่อหนี้ผูกพัน 65.68 ล้านบาท 4.มาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณ 4,490 รายการ เป็นเงิน 2,565.80 ล้านบาท ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 2,286.44 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,474.10 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าทุกจังหวัดจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
โดยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้จัดทีมงานลงไปตรวจติดตามการดำเนินงานในพื้นที่
พบว่าในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาความล่าช้า ซึ่งเกิดจากกระบวนการบริหารงาน เช่น
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงการ/รายละเอียดโครงการ การขอใช้ที่ดินกับส่วนราชการ
หรือปัญหาด้านบุคลากร เป็นต้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้นำข้อมูลสภาพปัญหาที่ได้จากการตรวจติดตามในพื้นที่มากำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
พร้อมทั้งได้ให้ข้อแนะนำกับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ
ให้บูรณาการการบริหารงานร่วมกัน โดยให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จังหวัด หรืออำเภอ
เข้าร่วมดำเนินการทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ บุคลากร หรือด้านอื่นๆ
รวมทั้งให้ลงไปกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
เพื่อให้การทำงานในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์
พร้อมทั้งดูแลทุกโครงการให้เกิดความโปร่งใส โดยยึดถือปฏิบัติตามระเบียบพัสดุอย่างเคร่งครัด
และเพื่อให้จังหวัดสามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันตามระยะเวลา
กระทรวงมหาดไทยได้ประสานกรมบัญชีกลางให้ขยายเวลาการให้บริการแก่ส่วนราชการที่ดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาคัดเลือกโครงการตัวอย่าง (Best Practice)
ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และมีลักษณะการดำเนินการที่ดี
สามารถแสดงให้เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในชุมชน เช่น
โครงการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการพัฒนาอาชีพ โครงการสร้างงานสร้างรายได้ เป็นต้น
เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเน้นย้ำให้จังหวัดกำชับให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนดำเนินการตามโครงการมาตรการต่างๆ
อย่างจริงจัง เพื่อให้เม็ดเงินลงไปถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น