เมื่อ 28 ม.ค. 59 นายกฤษฎา
บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันลักษณะอากาศค่อนข้างจะแปรปรวน
ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ความแห้งแล้ง อากาศหนาวเย็น ฝนฟ้าคะนอง
ตลอดจนภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน
หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
ซึ่งส่วนราชการจะต้องดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วนตามความจำเป็นและเหมาะสม
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ
กระทรวงมหาดไทยในฐานะที่มีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับพื้นที่ มีความห่วงใยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศในช่วงนี้ ดังนั้น
เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ทั่วถึงเป็นธรรม
และมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
พ.ศ.2556 กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
เพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
โดยให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด
ดังนี้
1. การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้ประกาศกำหนดพื้นที่ที่เกิดภัยเป็นรายหมู่บ้าน/ชุมชน
ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในช่วงเวลานั้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับ
คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับอำเภอท้องที่
พร้อมทั้งนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาและหากภัยพิบัติส่งผลกระทบเป็นวงกว้างก็ให้ประกาศเพิ่มเติมเป็นรายพื้นที่ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
และให้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการประกาศฯ กรณีฉุกเฉินเพิ่มเติม
พร้อมทั้งระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน
เนื่องจากประกาศดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลกลางสำหรับหน่วยงานต่างๆ
ในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลซึ่งทุกจังหวัดจะต้องให้ความสำคัญ
และกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ยุติลงให้จังหวัดประกาศวัน เดือน ปี ที่สิ้นสุดภัย
ทั้งนี้ ให้เร่งพิจารณาดำเนินการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ
โดยเร่งด่วนทันทีเมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้ว
2. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2556
ซึ่งได้กำหนดวิธีการประชุมและองค์ประชุมในการพิจารณามติของคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
ทั้งในส่วนของจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) อำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) หรือกิ่งอำเภอ (ก.ช.ภ.กอ.)
ไว้แล้วอย่างเคร่งครัด สำหรับกรณีการใช้“มติเวียน” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยระเบียบ ไม่สามารถกระทำได้
3.
ให้จังหวัดประเมินสถานการณ์และวางแผนเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินทดรองราชการ หากวงเงินทดรองราชการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
ให้เสนอเรื่องขอขยายวงเงินทดรองราชการไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทันที
เพื่อประสานกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติโดยเร่งด่วน ซึ่งตามระเบียบฯ
กำหนดให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด
มีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 20 ล้านบาท
สำหรับทุกภัยพิบัติ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
สำหรับการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
จังหวัดจะต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข
และอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดเท่านั้น
หากจังหวัดมีความจำเป็นต้องจ่ายนอกเหนือหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ให้เสนอเรื่องขออนุมัติปฏิบัตินอกเหนือหลักเกณฑ์ไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยด่วน
เพื่อส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติก่อนที่จังหวัดจะจ่ายเงินทดรองราชการนอกเหนือหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้
โดยระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินมีกำหนด 3 เดือน
นับแต่วันที่เกิดภัย
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า
ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
โดยเคร่งครัด ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม
และเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกพื้นที่ทั้งประเทศ
รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ประสบภัยได้ทราบและเข้าใจตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้
ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการสั่งการให้ทุกจังหวัดประสานสาธารณสุขจังหวัดชี้แจงประชาชนในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง เน้นการรักษาสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอเพื่อลดการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้ด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น