ปมท. เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวัง
ติดตามสถานการณ์ และประสานการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 ย้ำทุกหน่วยร่วมบูรณาการทำงานกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้หลักและกระบวนการ “ประชารัฐ
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ ตนได้รับมอบหมายจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีความห่วงใยปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีความแห้งแล้งยาวนานกว่าปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟป่าและหมอกควันได้ง่าย และปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบกับสุขภาพของพี่น้องประชาชน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างรายได้ให้ประเทศ กระทรวงมหาดไทย จึงได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และประสานการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2559 ขึ้น โดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ การแจ้งเตือนภัย อำนวยการ ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้มีการสั่งการให้จังหวัดเตรียมความพร้อม โดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เน้นการแบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งเร่งสร้างความตระหนักถึงปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติในการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเน้น 3 ขั้นตอน ได้แก่1.มาตรการเตรียมการป้องกันก่อนเกิดเหตุ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการ การตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยง การกำหนดมาตรการต่างๆ การสำรวจ ตรวจสอบและการเตรียมพร้อมในเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือในการป้องกัน 2.มาตรการในการปฏิบัติขณะเกิดเหตุ เช่น การจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และ 3.การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเมื่อเกิดเหตุการณ์ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีการประสานงานกันทั้งในระดับพื้นที่ และส่วนกลาง โดยการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบถึงแผนงานและแนวทางปฏิบัติงานร่วมกัน มีการกำหนดช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ชัดเจน รวมทั้งให้จังหวัด และอำเภอ ประสานและบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนอาสาสมัครต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานในรูปแบบ “ประชารัฐ” โดยทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา มีการแบ่งพื้นที่ แบ่งความรับผิดชอบ แบ่งกำลังคนให้ชัดเจน และบูรณาการเครื่องมืออุปกรณ์รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการต่างๆ และได้เน้นย้ำให้ในระดับพื้นที่ได้มีการจัดประชุมหารือหรือมีการจำลองสถานการณ์เหตุการณ์ เพื่อเป็นการซักซ้อมและเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริง พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันที่เกิดการการเผาป่าและพื้นที่การเกษตร เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการป้องกันปัญหาดังกล่าว
จากนั้น ได้ติดตามรับทราบสรุปสถานการณ์ แนวโน้มการคาดการณ์และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนงานและแผนปฏิบัติการ รวมทั้งมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนมีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการทั้งด้านเครื่องมืออุปกรณ์ กำลังคน และงบประมาณ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และเกิดการบูรณาการร่วมกัน สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาร่วมใช้ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่า เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียม ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นต้น
ต่อจากนั้น นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการตามมาตรการ และตามข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อย่างเข้มข้น โดยบูรณาการ และประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และให้จัดทำประชาคมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดช่วงเวลาในการห้ามเผาในช่วงวิกฤติหมอกควันตามความเหมาะสม และตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และหากเกิดสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันรุนแรง ให้รายงานให้ศูนย์เฝ้าระวังฯ ทราบทันที รวมทั้งได้มีข้อสั่งการให้จังหวัดเร่งดำเนินการ โดยมีการประสานและซักซ้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ และกำลังคนต่างๆ รวมทั้งประสานเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณการร่วมกัน เกิดการเตรียมพร้อมของทุกฝ่าย และสามารถลดความสูญเสียและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น