pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กรมสบส.ลงดาบคลินิกเมดิซีน ย่านคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ใช้แพทย์ปลอมรักษา - ขายยาลดอ้วนอันตรายยี่ห้อ “ฟิต โคลสลี่” ตั้งไลน์กลุ่มคุยสุขภาพชวนสมาชิกทดลอง

        ทีมปราบคลินิกเถื่อน  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกจับคลินิกย่านจังหวัดปทุมธานี ใช้แพทย์ปลอม  ลวงขายยาลดอ้วนชื่อ ฟิต โคลสลี่ อ้างเป็นสมุนไพร มีงานวิจัยความเชื่อถือ  ทางไลน์กลุ่มพูดคุยสุขภาพและชวนทดลอง  หลังใช้ยาปรากฎมีอาการปวดศีรษะ ท้องเสียอย่างรุนแรง ปากลิ้นชา ใจสั่น  นอนไม่หลับ  พร้อมย้ำเตือนประชาชนระวัง การโฆษณาแฝง ในสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ  โดยเฉพาะยาลดอ้วน  ขอให้พบแพทย์ที่รพ.หรือคลินิกมีแพทย์รักษาที่มีหลักฐานถูกต้องกฎหมาย  และแจ้งเบาะแสที่มือปราบสถานพยาบาลเถื่อนตลอด 24 ชั่วโมง
        เมื่อ 17 ธันวาคม 2558  ที่จังหวัดปทุมธานี  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.)พร้อมเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรมสบส. ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี  เข้าตรวจสอบ คลินิกเมดิซีน ตั้งอยู่เลขที่ 99/111-2 หมู่ 13 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนว่าคลินิกแห่งนี้ได้ทำการเปิดการรักษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการลักลอบจำหน่ายยาลดน้ำหนักที่ได้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาไปแล้ว  ยี่ห้อฟิตโคลสลี (Fit Closely) โดยอ้างว่าทำจากสมุนไพร มีงานวิจัยรองรับ วิธีการขายจะชวนสมาชิก เข้ากลุ่มไลน์(LINE) คุยเรื่องสุขภาพ หลังจากนั้นจะชวนทดลองใช้ยา และสั่งซื้อยาดังกล่าวผ่านทางไลน์กลุ่มของคลินิก ทำให้ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา หลงเชื่อและซื้อยาไปกินทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ท้องเสียอย่างรุนแรง ใจสั่น ปากและลิ้นชา นอนไม่หลับ ท้องผูก จึงร้องเรียนไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี
        นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรืองฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าวพบว่าเป็นคลินิกเวชกรรม ซึ่งมี นายสมรัช เรียงเครือ อายุ 32 ปีเป็นเจ้าของสถานที่ เบื้องต้นพบการกระทำความผิด 6ข้อหา ได้แก่ 1) ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541มาตรา 16 มีโทษตามมาตรา 57 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2) ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 24 มีโทษตามมาตรา 57 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3) ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต   มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 26 มีโทษตามมาตรา 43 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4) จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท5) จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และ6)ผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        ของกลางที่ตรวจพบในวันนี้มีมากกว่า 20 รายการ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น กาแฟเครื่องสำอาง เช่น สบู่ และวิตามินซีชนิดฉีด และยาลดความอ้วนชนิดแคปซูลบรรจุแผงละ 10 แคปซูล ยี่ห้อฟิตโคลสลี (Fit Closely) จะส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบส่วนประกอบหากพบว่ามีสารต้องห้าม จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
        “ขณะนี้ กระแสสุขภาพกำลังมาแรง ประชาชนให้ความใส่ใจในกระแสสุขภาพกันมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันขอย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง การโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเทอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้มักจะแฝงในรูปแบบของเรื่องสุขภาพมากขึ้นและมีรูปแบบทั้งโฆษณาโดยใช้ดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม มาเป็นผู้แนะนำสนค้า ผลิตภัณฑ์ และนำผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ออกมาพูดถึงผลต่อสุขภาพตนเองหลังใช้เป็นเสมือนผู้ให้การรับรองสรรพคุณแทน รวมทั้งการตั้งกระทู้ถามทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และอาจจะตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อได้ ดังนั้นประชาชนจะต้องรู้เท่าทัน และเลือกใช้ช่องทางที่ถูกต้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้บริการ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้กรม สบส.  ได้จัดทำระบบอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานพยาบาลภาคเอกชน/คลินิกได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 14,330 แห่ง ในหน้าเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งกว่า 94เปอร์เซ็นต์มีการระบุพิกัดที่ตั้งชัดเจน จะเร่งทำให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2559 นี้นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรืองฯ กล่าว
        ด้าน นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่าในการเลือกรับบริการจากสถานพยาบาล และคลินิกทุกประเภท ขอให้ประชาชนสังเกตหลักฐานต่างๆ ที่สถานพยาบาลจะต้องแสดงตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ดังนี้  1) มีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย 2) ด้านหน้าสถานพยาบาลต้องมีแผ่นป้ายขนาดใหญ่แสดงชื่อสถานพยาบาล ประเภทและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลซึ่งมีเลขจำนวน 11 หลัก และ 3) ในส่วนของแพทย์ที่ทำการรักษาจะต้องตรงตามป้าย   ที่แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ พร้อมชื่อ-สกุล และเลขที่ใบอนุญาตของแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพ โดยต้องตรวจสอบแพทย์ที่ทำการรักษาว่าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหรือไม่ และให้ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์แพทย์สภา 





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น