รมช.มท.เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาระดับชาติ
เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12
พร้อมมอบนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนเพื่อสร้างประเทศไทย
ให้เป็นเมืองปลอดภัย Safety Thailand ตามนโยบายรัฐบาล
เมื่อ
14 ธ.ค.
58 เวลา 09.00 น. ณ
ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทคบางนา กรุงเทพฯ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน
ครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด
"ครึ่งทางทศวรรษ...กับการจัดการที่เข้มแข็ง" โดย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัย ทางถนน ร่วมกับ
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย
และกองทุนเพื่อความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม
ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กร มูลนิธิ
ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่างๆ
และนักวิชาการจะได้รับทราบทิศทางนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานหลัก
ตลอดจนการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเฉลี่ยปีละ 1,500 - 2,000 คน
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Prime
Minister Road Safety Awards ให้แก่ผู้ได้รับรางวัลจำนวน 36 ท่าน จากนั้นได้กล่าวเปิดงานสัมมนาฯ และมอบนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน
ครั้งที่ 12 โดยกล่าวว่ารัฐบาลได้ตระหนักและเล็งเห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน
และสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ป้องกันและลดความสูญเสียลงได้
รัฐบาลจึงได้กำหนดเป็นนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในการจราจรด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ
ในการตรวจจับเพื่อป้องกัน การรายงานและการดูแลผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้
เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงาน “ทศวรรษเพื่อความปลอดภัยทางถนน”
พ.ศ. 2554 – 2563 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ยึดเป้าหมายและแนวทางขององค์การสหประชาชาติ
เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คน ต่อประชากร 1 แสนคนในปี พ.ศ. 2563 โดยจะเร่งพัฒนาเรื่องระบบบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ทุกหน่วยงานจะต้องนำไปดำเนินการ
ประกอบด้วย
1. การดำเนินการด้านกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นจริงจังและต่อเนื่อง
2. การปลูกฝังจิตสำนึกวัฒนธรรมความปลอดภัยและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและกลไกติดตามประเมินผล
นอกจากนี้ ยังได้เน้นในเรื่องของการมีระบบข้อมูล
ระบบติดตามกำกับประเมินผลแบบครบวงจร
มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัด
และการรายงานความก้าวหน้าให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเพื่อใช้กำกับติดตามตลอดทั้งปี
การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการจัดการปัญหาในระดับพื้นที่
เน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการ "ตั้งด่านชุมชน"
และการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดความเร็วในเขตเมือง
ปัญหาเมาแล้วขับ เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานจัดทำมาตรการองค์กร
เพื่อความปลอดภัยทางถนน
เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยของบุคลากรในสังกัดและคนในชาติ สุดท้ายขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม
ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเหล่านี้ อย่างจริงจังตามกรอบทศวรรษความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัย Safety Thailand ตามนโยบายของรัฐบาล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น