pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปฏิบัติการตรวจล้งกุ้งล้งปลา

 เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 23 ธันวาคม 2558 พล.ร.อ.บงสุช สิงห์ณรงค์ หัวหน้าคณะทำงานการปราบปรามผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในภาคประมง ของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. ได้นำกำลังจาก หน่วยงานสนธิความร่วมมือกันเข้าตรวจล้งกุ้ง ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตามแผนปฏิบัติการตรวจแรงงานประมง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยพบมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานไม่ถูกต้องจำนวนหนึ่ง จึงได้นำตัวมาทำการตรวจคัดกรองที่ลานสาครบุรีศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับนำตัวนายจ้างมาลงบันทึกการจับกุมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกำลังที่กระจายลงตามจุดต่างๆ ทั้งล้งกุ้ง และล้งปลาในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ก็ได้มีการนำตัวแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายพร้อมกับนายจ้างมาทำการคัดกรองและลงบันทึกการจับกุมเช่นเดียวกัน
 จากนั้นในเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันเดียวกัน พล.ร.อ.บงสุช สิงห์ณรงค์ หัวหน้าคณะทำงานการปราบปรามผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในภาคประมง ของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. พร้อมด้วย พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงข่าว การปฏิบัติการตรวจแรงงานประมง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยทาง พล.ร.อ.บงสุชฯ เปิดเผยว่า การตรวจแรงงานภาคประมง (บนฝั่ง) ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของหัวหน้าศูนย์ ศปมผ. ที่ได้สั่งการให้มีการตรวจติดตามการใช้แรงงานภาคประมงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ตามมาตรการ  IUU Fishing ของสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ที่ถูกเพ่งเล็งเรื่องของการใช้แรงงานในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมมากที่สุด ดังนั้นทาง ศปมผ. โดยความรับผิดชอบของ ศรชล.เขตจึงได้สนธิกำลังร่วมกับ กองทัพเรือ กรมประมง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร และทหารค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน โดยมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด 240 คน ลงตรวจล้งกุ้งล้งปลาพร้อมกัน จุด 30 เป้าหมาย พบมีการจ้างแรงงานกว่า 1,000 คน และในจำนวนนี้มีแรงงานที่ทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเบื้องต้นจำนวน 53 คน แบ่งเป็นชาย 13 คน และหญิงอีก 40 คน ซึ่งจากการคัดกรองเบื้องต้นใน 53 คนนี้ จำแนกออกเป็นการกระทำผิด ประเภทคือ 1.แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต ,2.แรงงานที่ทำงานผิดนายจ้าง , 3.แรงงานที่คาดว่าน่าจะมีอายุไม่ถึง 18 ปี แม้ในบัตรสีชมพูจะแสดงว่าเกิน 18 ปี แต่ด้วยลักษณะหน้าตาที่ไม่น่าจะถึง จึงต้องทำการตรวจพิสูจน์ทราบโดยส่งตัวให้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้นำไปตรวจพิสูจน์เพื่อให้มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าอายุถึง 18 ปี ตามที่บัตรสีชมพูระบุไว้หรือไม่ และ 4. แรงงานที่มีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับสวัสดิการจากนายจ้าง โดยแรงงานต่างด้าวทั้งหมดนี้จะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งนี้หากมีการตรวจพบถึงความผิดที่เกิดขึ้นจริง นายจ้างเท่านั้นที่จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ส่วนแรงงานจะได้รับการผ่อนปรนตามคำสั่งของ ศปมผ.และมติคณะรัฐมนตรีในช่วงของการผ่อนผันที่จะมีไปจนถึงสิ้นปีนี้ และถ้านายจ้างต้องการที่จะนำแรงงานเหล่านี้มาใช้ในล้งของตนเอง ก็จะต้องไปยื่นขอต่อศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น