pearleus

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บทความรู้ เรื่อง “เบื้องต้นสำหรับบุคลากรที่ดูแลเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี” ตอนที่ 1

เอชไอวี (HIV) คืออะไร    เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ได้ เป็นโรคที่เกิดในคนเท่านั้น โดยเชื้อเอชไอวี นี้จะทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ
 การติดเชื้อเอชไอวี แตกต่าง จากโรคเอดส์ อย่างไร    ในระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี ในผู้ใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติเป็นเวลาหลายปี ส่วนในเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา มักมีการดำเนินโรคที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ เมื่อร่างกายติดเชื้อเอชไอวี จะใช้เวลาหลายปีในการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จนกระทั่งจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำลงมาก ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ ทำให้เกิดโรคฉวยโอกาสต่างๆ ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่คนมีภูมิคุ้มกันปกติไม่เป็น เรียกภาวะนี้ว่า เอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เอชไอวีสามารถติดต่อกันได้ ทางใดบ้าง   เชื้อเอชไอวี สามารถพบได้ในเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด และน้ำนมของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ผ่านทางเยื่อบุ หรือผิวหนังที่มีบาดแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยทั่วไปเชื้อเอชไอวี เป็นเชื้อที่ตายง่าย เมื่ออยู่นอกร่างกายคน จึงไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การจับมือการกอดหรือการรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น รวมทั้งยังไม่สามารถติดต่อผ่านการถูกยุง หรือแมลงกัดได้  การติดต่อมีได้ 3 ทางหลัก ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นสาเหตุที่บ่อยและสำคัญที่สุด
- การติดต่อทางเลือด โดยการใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือการได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- การติดต่อจากมารดาสู่ทารก ในระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอด และการให้นมบุตร
ในปัจจุบันได้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในเลือดที่ได้รับบริจาค ดังนั้นโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวี จากการได้รับเลือดหรือการเปลี่ยนถ่ายเลือดจึงน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีการให้ยาในหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก ทำให้การติดเชื้อในเด็กรายใหม่มีจำนวนน้อยลง
เราจะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี  ในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี จะมีอาการแสดงดังต่อไปนี้
- มี ตับ ม้ามโต ผิวหนังอักเสบ เจ็บป่วยบ่อย
- ท้องเสียเรื้อรัง ฝ้าขาวจากเชื้อราในช่องปาก
- ติดเชื้อราในปอด เยื่อหุ้มสมอง ซูบผอมมาก พัฒนาการช้า

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจไม่มีอาการใด ๆ และมีสุขภาพแข็งแรง ได้เป็นเวลาหลายปี ดังนั้นการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี จึงเป็นวิธีเดียวที่จะวินิจฉัยผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างแน่นอน จึงควรทำการตรวจเลือดในผู้ที่มีอาการน่าสงสัยดังกล่าวข้างต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น