เก็บมาบอก ลอกมาเล่า...วิกฤตน้ำท่วม วิกฤตแรงงานไทย.....โดย..หนวด มหาชัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน สถานการณ์อุทกภัยในปี 2554 นับเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ประเทศไทยในปีนี้มีปริมาณน้ำฝนมากและฝนมาเร็วกว่าปกติ โดยพายุหลายระลอกที่พัดเข้ามายังภูมิภาคนับตั้งแต่พายุโซนร้อนไหหม่า (ปลายเดือนมิถุนายน) พายุนกเตน (ปลายเดือนกรกฎาคม) และพายุนาลแก (ต้นเดือนตุลาคม) ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่เกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่สำคัญ ยังต้องจับตาเฝ้าระวังพายุที่อาจจะก่อกำเนิดขึ้นได้อีกเนื่องจากฤดูกาลที่ฝนตกชุกยังไม่สิ้นสุด ปริมาณน้ำที่มีมากนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง แต่อุทกภัยครั้งนี้อาจถือเป็นครั้งแรกที่น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อุตสาหกรรมหลักในหลายจังหวัดตอนเหนือของกรุงเทพฯ ทำให้ความเสียหายจากอุทกภัยในปีนี้อาจมีมูลค่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้หลายเท่าตัว รวมทั้งยังอาจมีผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาอีกหลายด้าน น้ำท่วมนับจาก ก.ค. 54 ... อาจกระทบเศรษฐกิจ 75,000-113,000 ล้านบาท จากการวิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน และการประเมินสถานการณ์มวลน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังมุ่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลกระทบและผลที่จะมีต่อเนื่องจากปัญหาดังกล่าวต่อภาวะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การจ้างงาน ตลอดจนการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยอาจสรุปมูลค่าความสูญเสียและผลรวมต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2554 ได้ดังนี้ ภาคเกษตรกรรม จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า สถานการณ์อุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมรวมทั้งสิ้น 66 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 8.6 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2554) โดยผลผลิตที่คาดว่าจะเสียหายส่วนใหญ่เป็นข้าวประมาณ 7.3 ไร่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในกรณีรุนแรงหากเกิดความเสียหายเพิ่มเติมจากมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกในระยะข้างหน้า ความเสียหายจากอุทกภัยในรอบนี้อาจครอบคลุมพื้นที่การเกษตรโดยรวมถึง 12 ล้านไร่ ภาคอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้นับว่ามีความรุนแรง เนื่องจากขณะนี้ น้ำได้ท่วมเข้าถึงนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดตอนเหนือของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะลพบุรีและอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตสินค้าสำคัญอื่นๆ อีกด้วย เช่น สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น โดยหลายโรงงานผลิตสินค้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมขอบเขตผลกระทบและสถานการณ์ยืดเยื้อนานหลายสัปดาห์ อาจจะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบในการผลิต และจะส่งผลต่อภาคการผลิตของประเทศในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เฉพาะอยุธยาเพียงจังหวัดเดียว ก็นับเป็นจังหวัดศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ (รองจากกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ) มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 11 ของมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ขณะที่เป็นแหล่งรวมของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-40 ของประเทศ รวมทั้งมีความเชื่อมโยงด้านซัพพลายเชนกับคลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น ปทุมธานี นครราชสีมา และปราจีนบุรี ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในโซนตอนเหนือของกรุงเทพฯ ก็นับเป็นกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญด้วยสัดส่วนการผลิตประมาณร้อยละ 10 ของประเทศ ภาคบริการ ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวคาดว่าจะไม่รุนแรง หากสถานการณ์ภัยพิบัติไม่ส่งผลต่อภาคใต้และภาคตะวันออก เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ส่วนใหญ่มีตลาดนักท่องเที่ยวหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่และเส้นทางคมนาคมที่สัญจรไม่สะดวก ตลอดจนความกังวลของคนกรุงเทพฯ ต่อที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินในช่วงจุดเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม คงทำให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางในระยะนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจบริการท่องเที่ยวเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงปิดเทอม สมมติฐาน : กรณีดี -- สถานการณ์วิกฤตน้ำคลี่คลายได้ภายในเดือนตุลาคม และผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ อยู่ในวงจำกัด กรณีเลวร้าย -- สถานการณ์วิกฤตน้ำในพื้นที่ประสบภัยยังเป็นปัญหาต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤศจิกายน และซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมหลักได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ต้องหยุดการผลิตและกระทบต่อการจ้างงานโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยาที่ต้องหยุดการผลิตลง มีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 200,000 คน การลงทุน ภาวะน้ำท่วมหนักคงส่งผลให้กิจกรรมการลงทุนชะลอตัว ที่สำคัญ ปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอันเป็นที่ตั้งของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติในการเลือกที่ตั้งของการลงทุนและนิคมอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับระบบการป้องกันภัยพิบัติมากยิ่งขึ้น โดยสรุป สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และความเสียหายยังมีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้นจากมวลน้ำที่กำลังไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งสู่ภาคกลางตอนล่าง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีการก่อตัวของพายุที่อาจจะพัดเข้าประเทศไทยได้อีก จากอุทกภัยครั้งนี้อาจทำให้รัฐบาลต้องมีการปรับแนวนโยบาย ซึ่งการดำเนินการในบางด้านอาจไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ เช่น การจำนำข้าวที่ผลผลิตข้าวนาปีจำนวนมากต้องเสียหากจากภาวะน้ำท่วม ทำให้มีข้าวเข้าสู่โครงการจำนำน้อยกว่าที่คาด และอาจต้องมีการขยายเวลาจำนำออกไปจากที่จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2555.....ยังมีประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีกำหนดจะเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2555 ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเมื่อคำนึงถึงผลกระทบจากอุทกภัยต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว การวางยุทธศาสตร์ในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรก็เป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น