pearleus

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ปูดขสมก.ซุ่มล็อคสเป็คเอ็นจีวี. นำเข้ารถ 32 คัน-คาดเอาใจนายกฯ

ความพยายามของ ขสมก.ที่จะดันราคากลางโครงการจัดซื้อรถเมล์ เอ็นจีวี.489 คันให้ขึ้นไปเกินกว่า 4,000 ล้านบาทสำเร็จสมความตั้งใจ ทั้งๆที่รู้ว่าผิดหลักเกณฑ์ที่ ปปช.กำหนด  เล่นปาหี่เปิดประมูลด้วยราคา 3.3 พันล้านบาทเมื่อครั้งที่แล้วก็เพื่อหาเหตุจำเป็นแย้งไปที่ ปปช.ยอมให้ขึ้นราคากลางไปที่ 4 พันกว่าล้านบาท ผู้บริหารระดับสูงระดับกระทรวงคมนาคม พยายามปั้นประเด็นรับส่งลูกกันเป็นทีมไล่ตามระดับชั้น  อ้างเหตุราคารถบวกภาษีนำเข้าไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล
        ขณะที่ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเบสทริน ก็เคยเปิดประเด็นดักทางไว้แล้วว่า ขสมก.หรือใครก็ตามที่กำลังใช้ความพยายามผลักดันราคากลางรถเอ็นจีวี. 489 คันที่กำลังจะมีการประมูลจาก 3.3 พันล้านเป็น 4 พันกว่าล้าน ขอเรียนว่าราคาที่เบสทรินชนะนั้น เป็นราคาที่รวมภาษีต่างๆ และค่าธรรมเนียมครบถ้วนแล้ว ขสมก.ยังเดินหน้าที่จะซื้อรถเมล์ในราคา 4 พันกว่าล้านได้สำเร็จลุล่วงจนได้เมื่อ ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การ (บอร์ด) ขสมก.ออกมาฟันธงราคากลางรถเมล์เอ็นจีวีรอบใหม่ 4,020 ล้านบาท เปิดประมูลกลางเดือนตุลาคม พร้อมส่งมอบล็อตแรก20 คันก่อนปีใหม่ตามใจนายกรัฐมนตรี
        รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ  ขสมก. ออกมาย้ำว่า  โครงการจัดซื้อรถ เอ็นจีวี.489 คัน ที่ได้ล้มประมูลไปนั้น ล่าสุด ขสมก.ได้นำประกาศร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยใช้วงเงินราคากลางใหม่ 4,020 ล้านบาทโดยจะนำทีโออาร์. ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อประชาพิจารณ์เป็นครั้งแรก  เมื่อวันที่ 18-21 ก.ย.ที่ผ่านมา  หากมีข้อเสนอแนะจากประชาชนจะนำมาพิจารณาทบทวนปรับทีโออาร์.อีกครั้ง ก่อนนำประกาศร่างทีโออาร์.ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ย.
สำหรับการส่งมอบรถแบ่งออกเป็น 2 ล็อตในทีโออาร์.โดยล็อตแรกต้องส่งมอบ 20 คัน ภายใน 40 วันหลังจากลงนามสัญญา เนื่องจากต้องการนำรถบางส่วนมาวิ่งให้บริการประชาชนก่อนและต้องการนำมาวิ่งให้เป็นของขวัญคนไทยในวันขึ้นปีใหม่ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตามแผนรถล็อตแรกต้องได้รับก่อนวันที่ 31 ธ.ค.60 หรืออย่างช้า ต้นเดือน ม.ค.61ส่วนล็อตที่สองทยอยส่งมอบจนครบ 489 คัน ภายใน 120 วัน
ทั้งนี้ ราคากลางจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน วงเงิน 4,020,158,000 บาท แบ่งเป็นจัดซื้อรถโดยสาร 489 คัน เป็นเงินประมาณ 1,735,550,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคา/หน่วย 3,549,182 บาท)ส่วนราคากลางจ้างซ่อมแซมและบํารุงรักษารถโดยสาร 489 คัน ระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินประมาณ 2,284,608,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็นช่วงปีที่1 ถึงปีที่ 5 เป็นเงิน 825,493,125 บาท (อัตราเฉลี่ยไม่เกิน 925บาท/คัน/วัน) และช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 เป็นเงิน1,459,114,875 บาท (อัตราเฉลี่ยไม่เกิน 1,635 บาท/คัน/วัน)
น่าสังเกตุคือ ราคารถบัสเอ็นจีวี.คันละ 3.5 ล้านต่อคันก็ดูสมเหตุสมผล ราคาค่าซ่อมบำรุงรักษาช่วงปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 อยู่ที่ราคา 925 บาทต่อคันต่อวันก็ดูมีเหตุมีผล แต่ราคาที่พุ่งพรวดจากราคาเดิม 3.3 พันล้านมาเป็น 4 พันล้านพบว่า มีความตั้งใจเพิ่มส่วนต่าง 600 กว่าล้านบาทตรงที่มีการสอดไส้ราคาค่าซ่อมบำรุงรักษาปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 อยู่ที่ราคา1,635 บาทต่อคันต่อวัน โอเวอร์คาดว่าเป็นเงินทอนให้ใครบางกลุ่ม ถ้า ขสมก.ต้องการดันราคากลางขึ้นมาอีก 600 ล้านบาทให้ได้ ทำไมไม่ขึ้นราคาที่ตัวรถตามที่ ขสมก.อ้างเหตุกับ ปปช.ว่าราคา 3.3 พันล้านต่ำไป ราคารถบวกภาษีของตัวรถคันละ 3.5 ล้านบาทต่อคันเป็นไปไม่ได้ รวมค่าซ่อมบำรุง 10 ปีแล้วราคากลางต้องเป็น 4 พันล้านบาทเท่านั้นถึงจะมีเอกชนสนใจร่วมประมูล แต่ ขสมก.กับบอร์ดทั้งคณะกลับเห็นชอบให้ทีโออาร์.ฉบับใหม่ซุกราคาค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10  แทนที่จะขึ้นที่ราคารถเอ็นจีวี.บวกภาษีตามที่อ้างไว้กับ ปปช. กลับหมกเม็ดในทีโออาร์.ฉบับล่าสุด 
โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 60 นายสุรดิษ สีดามาตย์ บริษัท แม่โขงเทคโนโลยี จำกัด มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าชธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมบำรุงรักษา พร้อมตั้งข้อสังเกตุไปที่เรื่องระยะเวลาการส่งมอบรถโดยสารครั้งที่ 1 กำหนดระยะเวลาการส่งมอบรถโดยสาร จำนวน 489 คัน ภายในระยะเวลา 120 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา โดยจะต้องส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศ(NGV) จำนวน 20 คัน ภายในระยะเวลา 40 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา และส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศ (NGV) ส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้นำเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวต่อ ขสมก. และทาง ขสมก. ได้ชี้แจงว่า  “หากผู้ประกอบการเข้าใจว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส ขสมก. จึงได้ตัดข้อความในส่วนนี้ออก” ต่อมานายสุรดิษฐ์ ทักท้วงด้วยเอกสารส่งตรงถึง ขสมก.อีกเป็นครั้งที่ 2 ว่าแม้ทางขสมก. ได้ตัดข้อความในส่วนนี้ออกไปแล้ว แต่ ขสมก.กลับเพิ่มเงื่อนไขเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการส่งมอบรถโดยสารไว้ในข้อ 6 “หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณา” โดยตั้งเป็นเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับบริษัทฯที่สามารถนำส่งมอบรถได้เร็วกว่ารายอื่น
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงรถโดยสารประจำทางแบบชั้นเดียว ไม่มีบันไดหรือที่เรียกว่ารถชานต่ำ มิใช่เป็นรถโดยสารแบบทั่วไป ที่มีผู้ประกอบการรายอื่นใช้งาน โดยเฉพาะเกียร์ซึ่งต้องสั่งตรงจากประเทศอเมริกาหรือเยอรมันนี2 ประเทศนี้เท่านั้นรถสป็คของ ขสมก.ที่ว่านี้ไม่มีการสั่งผลิตอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีผู้ผลิต/ผู้ประกอบการรายใด มี สต๊อกสินค้าไว้ หากมีผู้ประกอบการรายใดมีสต๊อกสินค้ารถโดยสารนั้นๆ ไว้อยู่แล้ว ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการรายอื่น อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาจาก กรมศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังว่า ประมาณเดือนกว่าๆที่ผ่านมา มีเอกชนรายหนึ่งนำเข้ารถบัสมีลักษณะตรงตามสเป็คและสีตามที่ ขสมก.กำหนดไว้เป๊ะ จำนวน 2 เที่ยวขน เที่ยวละ 16 คันรวม 32 คัน รถบัสเอ็นจีวี.ทั้ง 32 คัน มีการสำแดงราคาต้นทุนแบบ  Non Complete หมายถึงยังไม่สมบูรณ์ คือรถจำนวนดังกล่าวไม่มีเครื่องยนต์ ซึ่งต้องจ่ายภาษีนำเข้า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยคำนวนจากราคาต้นทุนสำแดง ซึ่งจะถูกกว่าการนำเข้ามาแบบสมบูรณ์ทั้งคันมากกว่าครึ่ง แม้จะนำเข้าเครื่องยนต์มาประกอบภายหลังก็ยังเสียภาษีถูกกว่านำเข้าทั้งคันมากกว่าครึ่ง วิธีนี้เป็นที่นิยมใช้ในการนำเข้ารถยนต์ในหลายๆประเภท
นายสุรดิษ กล่าวว่า รถบัสปริศนาหน้าตาตรงตามสเป็คขสมก.จำนวนนี้คือรถ 20 คันแรกที่คณะผู้บริหารขสมก.กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงคมนาคม ตั้งใจจะสานฝันให้นายกฯมอบแก่ชาวกรุงเทพฯให้ทันปีใหม่นี้ เป็นการเอาเปรียบผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นแบบนี้แค่สั่งซื้อตรงๆจะเสียเวลาเปิดประมูลทำไม?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.60  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นซื้อซองประมูลโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ซึ่งเอกชนทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทย เทคโนโลยี แอนด์ เดเวลอปเมนท์ จำกัด, บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป และกิจการร่วมค้า เจวีซีซี ช.ทวี ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำหนดว่าจะต้องมายื่นเอกสารประกวดราคาซื้อวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเข้ารับการตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมในวันที่ 1 กันยายนนี้ และสามารถรับรถเมล์เอ็นจีวีได้ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ปรากฏว่าจนถึงเวลา 11.00 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดทำการยื่นขอเข้าร่วมประกวดราคา แต่ไม่มีบริษัทใดเดินทางไปยัง ขสมก.สำนักงานใหญ่ เพื่อแสดงเจตจำนงในการขอเข้าประกวดราคาโครงการรถเมล์เอ็นจีวี
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า จำเป็นต้องล้มการประมูล เนื่องจากไม่มีผู้ยื่นเข้าร่วมการประมูล ส่วนกระบวนในการทบทวนเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ใหม่หลังจากนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการปรับปรุงราคากลางให้มีความเหมาะสม ก่อนเปิดประมูลใหม่
การประมูลครั้งนี้ใช้ราคากลางที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ชนะประมูลในครั้งก่อนที่ 3,387 ล้านบาท แต่ไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามสัญญา ซึ่งส่งผลให้เอกชนไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากราคาต่ำ แต่หากมีการปรับปรุงราคากลางก็อาจจะทำให้มีเอกชนเข้าร่วมประมูล ส่วนกรณีที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ยังเข้าข่ายการถูกแบล็คลิสต์หรือขึ้นบัญชีดำอยู่นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 วันนี้ ว่าบริษัทจะสามารถผ่านขั้นตอนการคัดเลือกคุณสมบัติได้หรือไม่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น