pearleus

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ปธ.สภาวัฒนธรรมจ.สมุทรสาครเชิญร่วมพิธีพุทธาภิเษก เหรียญพระพุทธสิหิงค์ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโคกขาม


 


ปธ.สภาวัฒนธรรมจ.สมุทรสาครเชิญร่วมพิธีพุทธาภิเษก เหรียญพระพุทธสิหิงค์  หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโคกขาม


ดร.สุนทร วัฒนาพร ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร (อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสาคร) ขอเชิญร่วมงานพิธีพุทธาภิเษก เหรียญพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๔ ของประเทศไทย (หลวงพ่อสัมฤทธิ์) วัดโคกขาม (ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร)
ในวันเสาร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๒๓ น. ณ วัดโคกขาม โดยพระเดชพระคุณพระเทพสาครมุนี เจ้าอาวาสวัดเจษฎาราม พระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัด
สมุทรสาคร ...ประธานจุดเทียนชัยและประธานฝ่ายสงฆ์ 
คุณพิศาล เตชะวิภาค (อ.ต้อย เมืองนนท์) รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย...ประธานฝ่ายฆราวาส ซึ่งมีรายนามพระภาวนาอาจารย์ที่นั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกคือ
๑.พระภาวนาวิสุทธิโสภณ (หลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์) วัดประดู่ สมุทรสงคราม
๒.พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (หลวงพ่ออิฐ) วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม
๓.พระครูสาครธรรมโสภณ (หลวงพ่อสง่า) วัดโสภณาราม (บ้านขอม) สมุทรสาคร
๔.พระครูสิริสาครธรรม (พระมหาจำนง) วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร
๕.พระครูสมุห์มนต์ชัย อตฺตสีโต วัดเทพนรรัตน์ สมุทรสาคร
๖.พระครูจารุวัฒนคุณ (หลวงพ่อเพ้ง) วัดหอมเกร็ด นครปฐม
๗.พระครูปลัดวิทยา ฐานธมฺโม  (พระอาจารย์เล็กเจ้าสัว) วัดกลางบางแก้ว นครปฐม
๘.พระครูปฐมวราจารย์ (หลวงพ่ออวยพร) วัดดอนยายหอม นครปฐม
๙.พระปู่ปัน วัดหนองกระทุ่ม กำแพงแสน นครปฐม
๑๐. พระพ่อสมชาย (เสือ) สำนักสงฆ์หนองแพนะ ฉะเชิงเทรา
รายการวัตถุมงคลเหรียญพระพุทธสิหิงห์ องค์ที่ ๔
๑. ชุดทองคำ เนื้อทองคำหนัก 18 กรัม , เนื้อเงินหน้ากากทอง , เนื้อเงินลงยาสีธงชาติ , เนื้อเงิน , เนื้อนวะหน้ากากทอง , เนื้อนวะหน้ากากเงิน , เนื้อทองแดง / จำนวนสร้าง ตามจอง / ราคาบูชาชุดละ ๕๕,๐๐๐ บาท
๒. เนื้อเงินหน้ากากทอง / จำนวนสร้าง ๓๐๐ เหรียญ/ ราคาบูชา ๕,๐๐๐ บาท
๓. เนื้อเงินลงยาสีธงชาติ / จำนวนสร้าง ๓๐๐ เหรียญ/ ราคาบูชา ๒,๕๐๐ บาท
๔. เนื้อเงิน / จำนวนสร้าง ๓๐๐ เหรียญ/ ราคาบูชา ๒,๐๐๐ บาท
๕. เนื้อนวะหน้ากากทอง / จำนวนสร้าง ๕๐๐ เหรียญ/ ราคาบูชา ๑,๘๐๐ บาท
๖. เนื้อนวะหน้ากากเงิน / จำนวนสร้าง ๕๐๐ เหรียญ/ ราคาบูชา ๑,๐๐๐ บาท
7.เนื้อนวโลหะ / จำนวนสร้าง ๕๐๐ เหรียญ/ ราคาบูชา ๕๐๐ บาท
๘. เนื้อทองแดง / จำนวนสร้าง ๒,๐๐๐ บาท/ ราคาบูชา ๑๐๐ บาท

ติดต่อเช่าบูชาหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่
พระครูสาครรัตนาภรณ์
เจ้าอาวาสวัดโคกขาม
เจ้าคณะตำบลมหาชัย
และ พ.ต.ท.สมชาย ขอค้า รอง ผกก.สส.สภ.โคกขาม ผู้ดำเนินการจัดสร้าง...
โทร. 081-763-8933
และฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดโคกขาม อาจารย์วิมล โทร. 081-869-5800 , ช่างอู๋ โทร.
083-606-4448

กระผมขอนำเสนอข้อมูลประวัติ
ตำนานพระพุทธสิหิงค์ (องค์ที่ ๔) วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาครดังนี้ วัดโคกขามตามประวัติได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งปัจจุบันวัดโคกขามตั้งอยู่เลขที่ ๑๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาครเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕๘ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวา ทิศตะวันออกติดกับคลองโคกขาม ซึ่งเป็นคลองประวัติศาสตร์ในพระราชพงศาวดาร(ฉบับพระราชหัตถเลขา)สมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) เป็นเส้นทางเดินทางและชุมชนโบราณมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน

พระพุทธสิหิงค์ (องค์ที่ ๔) วัดโคกขามจังหวัดสมุทรสาคร ขนาดองค์พระมีหน้าตัก กว้าง ๖๖ เซนติเมตร สูง ๘๓ เซนติเมตร หนา ๗ มิลลิเมตร รอบฐาน ๑๕๓ เซนติเมตร เนื้อเป็นทองสีดอกบวบหนัก ๓๗ ชั่ง ๑ ตำลึง (๒,๙๖๔ บาท) ทรวดทรงองค์พระอวบอ้วนพระหนุนูน พระพักตร์กลมพระโขนงโก่งโค้ง พระนาสิกเป็นสันโค้ง พระโอษฐ์แคบ พระรัศมีเหนือพระเกตุมาลาเป็นเปลวสั้นเส้นพระศกขมวดเป็นต่อมกลม ท่านั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์วางในท่าปางมารวิชัย ครองผ้าแบบห่มดองฐานรองเป็นฐานเขียง ลักษณะทั่วไปนับว่าเป็นแบบเชียงแสนรุ่นแรก เชื่อว่าฝีมือช่างเป็นของประติมากรชาวล้านนาไทย ซึ่งสมัยหนึ่งสมเด็จพระราเมศวร ได้ยกกองทัพไปปราบแคว้นล้านนาไทยและกวาดต้อนอพยพชาวล้านนาไทยมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งในจำนวนที่อพยพมานี้ มีตระกูลช่างประติมากรที่มีฝีมือเยี่ยมอยู่ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๓๙ พระยารามเดโช (ชู)เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้หลบหนีจากการที่สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้พระยาสุรสงครามและพระยาราชวังสันยกกองทัพไปปราบเพราะการที่ไม่ยอมเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งถือว่าแข็งเมืองไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาโดยพระยารามเดโช (ชู)ได้หลบหนีขึ้นมาทางเรือพร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์หนึ่งขึ้นมาด้วยและในการหลบหนีครั้งนั้นได้มีช่างฝีมือชาวล้านนาไทยจำนวนหนึ่งติดตามมาด้วยเมื่อหลบหนีมาถึงเมืองสาครบุรี จึงได้ขึ้นบกที่บ้านโคกขามและได้อุปสมบทเป็นพระต่อมาได้ให้ช่างฝีมือชาวล้านนาไทยที่ติดตามมาสร้างปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในวัดโคกขามที่ประกอบด้วย
๑)พระประธานประจำอุโบสถ (หลังเก่า) เป็นพระพุทธศิลป์แบบเชียงแสน ขนาดหน้าตัก ๔๕ นิ้วพระประธานองค์นี้ มีมาพร้อมอุโบสถ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายโดยเฉพาะชาวบ้านโคกขาม
๒)พระเจดีย์หน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงคว่ำ ฐาน ๘ เหลี่ยม สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานตามวัสดุที่คล้ายกันกับอุโบสถจึงน่าจะสร้างหลังจากสร้างอุโบสถได้ไม่นาน
๓)บุษบก มีความสูง ๒ ศอก ฐานสูง ๑ ศอก ตรงที่ประทับกว้าง ๒ ศอก ตรงกลาง ตรงกลางเพดานมีลายประดับมุก ข้างในบุษบกปิดทองทึบเสาเป็นรูปสี่เหลี่ยมประดับอาจเป็นไข่มุกหรือเกล็ดปลาบางชนิดยังไม่แน่ชัด หลังคาทำเป็นชั้นลด ยอดเป็นลูกแก้วกลมถัดลูกแก้วลงมามีชั้นลด ๔ ชั้น มุมตามชั้นลดทำเป็นนาคชูเศียรฝีมือแกะสลักพญานาค ประณีตงดงาม

​พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่ไทยได้แบบอย่างมาจากศรีลังกา แต่เดิมเป็นที่รู้กันว่าพระพุทธสิหิงค์ในประเทศไทยมี ๓ องค์ คือ
​องค์ที่ ๑ ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุธไธศวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ
​​องค์ที่ ๒ ประดิษฐานที่วัดสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
​​องค์ที่ ๓ ประดิษฐานที่หอพระสิงห์ บริเวณศาลากลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
​​ต่อมาได้มีการพบพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ ๔ ประดิษฐานที่วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
​ซึ่งพระพุทธสิหิงค์ (องค์ที่ ๔) วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาครองค์นี้มีลักษณะที่งดงามและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยในประวัติศาสตร์กล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์องค์นี้พระยารามเดโช (ชู) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้นำมาเมื่อครั้งต้องทิ้งเมืองในศึกที่พระเพทราชาส่งกองทัพบกและทัพเรือลงไปปราบปราม ฐานที่เป็นขบถแข็งเมือง พระยารามเดโช (ชู) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้หลบหนีราชอาญามาบวชเป็นพระที่วัดโคกขามแห่งนี้
​พระพุทธสิหิงค์ (องค์ที่ ๔) วัด
โคกขามเป็นศิลปะล้านนา มีจารึกว่าสร้างเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๒๓๒ โดยพระยารามเดโช (ชู) ผู้ครองนครศรีธรรมราชซึ่งขณะนั้นเป็นหัวเมืองชั้นนอกขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สาเหตุที่พระพุทธสิหิงค์องค์นี้ได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดโคกขามก็คือ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๑มีเจ้าเมืองหัวเมืองชั้นนอก ๒ เมือง คือ เจ้าพระยายมราช (สังข์)ผู้ครองเมืองนครราชสีมา และพระยารามเดโช (ชู) ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งทั้งสองท่านนั้นเป็นขุนศึกของพระนารายณ์มหาราช คราวเสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่คืนจากพม่า จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ทั้งสองคนไปเป็นเจ้าเมืองหัวเมืองชั้นเอก เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตลง พระเพทราชาร่วมกับหลวงสรศักดิ์ได้ทำการยึดอำนาจปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๒๓๑แต่พระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมาและพระยารามเดโช (ชู)เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วยเห็นว่ามิใช่เป็นการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลอีกทั้งยังเป็นการละน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เคยให้ไว้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกจากนั้นพระเพทราชาก็เป็นเพียงเพื่อนขุนศึกซึ่งเคยร่วมรบกันมาจึงเป็นเหตุให้ไม่ยอมเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่การกระทำดังกล่าวอันถือได้ว่าเป็นการแข็งเมืองไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาดังนั้นสมเด็จพระเพทราชาจึงโปรดให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองนครราชสีมาก่อน พระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมาสู้ไม่ได้ จึงหลบหนีไปพึ่งพระยารามเดโช (ชู)เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรดให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพบก และพระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพเรือ ยกทัพไปตีและล้อมเมืองนครศรีธรรมราชไว้พระยารามเดโช (ชู)เห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงมีหนังสือไปถึงพระยาราชวังสัน ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่และเชื้อสายเดียวกัน เพื่อขอเปิดโอกาสให้ตนหลบหนี พระยาราชวังสันจึงจัดเรือให้พระยารามเดโช (ชู)หลบหนีไปได้ ภายหลังสมเด็จพระเพทราชาทราบความจึงสั่งให้ประหารชีวิตพระยาราชวังสันเสีย ในการหนีทางเรือของพระยารามเดโช (ชู)ในครั้งนั้น ได้นำเอาพระพุทธสิหิงค์ไปด้วย แต่ได้ลงรักปิดองค์พระดำเพื่อเป็นการอำพรางมิให้ผู้ใดรู้ในตอนแรกได้หลบหนีออกเดินทางไปทางแหลมมลายูแต่เมือเห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่จะนำพระพุทธสิหิงค์ที่มีค่ามหาศาลองค์นี้ไปสู่ดินแดนของศาสนาอื่นจึงเปลี่ยนเส้นทางเรือกลับและเมื่อเดินทางกลับมาถึงคลองโคกขาม สาครบุรี ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้แวะขึ้นพำนักอาศัย ณ ที่นั้นเพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ลับและปลอดภัยมากที่สุด เหมาะในการหลบซ่อนตัว จากนั้นพระยารามเดโช (ชู)จึงได้บวชเป็นพระและนำพระพุทธสิหิงค์องค์ดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ที่วัดโคกขามตราบจนทุกวันนี้
​ความลับพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ได้ถูกปิดอยู่ถึง ๒๐๐ กว่าปี ต่อมารักที่ปิดองค์พระพุทธสิหิงค์เริ่มจางและเสื่อมคุณภาพลง จนสามารถมองเห็นเนื้อทองอย่างเด่นชัดในบางส่วนและมากขึ้นๆ ทุกวัน ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีของพุทธศาสนิกคนไทยทั้งชาติ จะได้มีโอกาสสักการบูชาพระพุทธสิหิงค์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์งดงามล้ำค่าของชาติไทยอีกองค์หนึ่ง

ความสัมพันธ์และบทบาทในวิถีชีวิตของพระพุทธสิหิงค์ (องค์ที่ ๔) วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาครกับชุมชนตำบลโคกขาม ได้มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน และได้มีการจัดประเพณีหรือพิธีกรรมต่างๆ สำหรับการสักการะพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เช่น พิธีสรงน้ำในวันสงกรานต์ เพื่อขอพรให้มีความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การแห่รอบตำบลโคกขาม เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการบูชาขอพรให้กับการดำรงชีวิต รวมทั้งการจัดงานเฉลิมฉลองประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาสักการบูชา สุดท้ายขอเขิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านไปร่วมงานพิธีพุทธาภิเษกเหรียญพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๔ ณ วัดโคกขามในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 เวลา 15.23 น. เพื่อความเป็นสิริมงคลและร่วมด้วยช่วยกันเช่าบูชาเหรียญพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ 4 เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างวิหารหลวงพ่อพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ ๔ ของประเทศไทย.....


  










0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น