“แผน-ปริญญา นาเมืองรักษ์” ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น จ.สกลนคร เขาเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสานมาสู่การปฏิบัติ โดยมีความตั้งใจสูงสุดที่จะเห็นเกษตรกรนำหลัก 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ เป้าหมายสูงสุดหวังให้ลูกหลานอีสานคืนถิ่น เป็นทายาทเกษตรที่นำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาอีสานให้อุดมสมบูรณ์เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ
•คนอีสานจนเงิน แต่รวยน้ำใจและทรัพย์ในดิน
บรรพบุรุษของแผนมาจาก จ.ร้อยเอ็ด แล้วย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ลุ่มน้ำสงครามจึงเป็นที่ที่เขาเกิดและเติบโต เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. ด้านบัญชี ได้เดินทางไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียตามกระแสนิยมระหว่างปี พ.ศ. 2530-2535 และเมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทย แผนได้ไปทำงานประจำที่กรุงเทพฯ จนถึงปี พ.ศ. 2540 แต่เพราะทางบ้านประสบปัญหาภาระหนี้สิน ประกอบกับเพิ่งมีบุตรคนแรก เขาอยากเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง และเพราะเขาเห็นคุณค่าของผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยที่มีทั้งแสงแดด อากาศ ดิน น้ำ และป่า ต่างจากซาอุดีอาระเบียที่มีแต่ทะเลทรายและลมแล้ง เขาจึงมุ่งมั่นที่จะนำพาชาวอีสานให้รักษาผืนแผ่นดินไว้ให้ได้ แม้ว่าคนส่วนมากจะมองว่าอีสานแล้ง แต่ในสายตาของเขาอีสานนั้นร่ำรวยทั้งวัฒนธรรม ประเพณี น้ำใจ และทรัพย์ในดินเพียงแต่จะต้องมองและแก้ปัญหาให้ตรงจุด
•ทำเกษตรผสมผสาน ลดต้นทุนแต่ไม่สร้างรายได้ จึงตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้น
หลังจากกลับไปตั้งรกรากที่บ้านเกิดที่ จ.สกลนคร แผนเข้าร่วมโครงการทายาทรับภาระหนี้แทนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเกษตรผสมผสานไทย-เบลเยี่ยม อันเป็นโอกาสที่ทำให้แผนได้พบกับ อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่กับ ธ.ก.ส. แผนจึงได้แนวคิดในการทำการเกษตรผสมผสานทั้งปลูกพืช ประมง และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกันเพื่อลดต้นทุน แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ แม้ว่าเกษตรกรมีความสามารถในการผลิต แต่มีต้นทุนการผลิตทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์และอาหาร อีกทั้งการตลาดที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ เกษตรกรจึงยังคงมีหนี้สิน
“ปี พ.ศ. 2546 โครงการเกษตรผสมผสานจบ กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการใน จ.สกลนครมี 18 อำเภอ จึงมารวมกลุ่มกัน ตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นมาในแต่ละอำเภอ อำเภอสว่างแดนดินก็เป็นผมเป็นคนรับผิดชอบ โดยทำขั้นตอนกระบวนการลดต้นทุนในการทำนา ตั้งแต่การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลง การตกกล้า การปักดำ การสำรวจระบบนิเวศ ข้าวแตกกอ ข้าวตั้งท้อง การเก็บเกี่ยว ครบทุกกระบวนการในการทำนา ทำไป 2 ปี นำองค์ความรู้ทั้งหมดมาตกผลึก สรุปเป็นปฏิทินงาน เพื่อที่จะให้เกษตรกรทำตามและเกิดความผูกพันกับแปลงนาของตัวเอง”
•ได้เรียนรู้ที่จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่และชีวิตประจำวัน
ปี พ.ศ. 2548 กลุ่มโรงเรียนชาวนาได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น "ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น" ใช้แนวคิด สร้างงาน ประสานวิชา พัฒนาอาชีพ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกลุ่ม โดยใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของตัวเอง ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ อ.ปัญญา ลาออกไปทำงานที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก "ฅน ฮัก ถิ่น" จึงไปช่วยงาน อ.ปัญญา 2 ปี และได้ไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่นั่น
“แต่ก่อนทำเรื่องเกษตรผสมผสาน ปลูกพืช ประมง เลี้ยงสัตว์ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็รู้แต่หลักการ แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2555 อ.ปัญญาจึงพาผมและเครือข่ายไปเรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับ อ.ยักษ์ - ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาแล้ว ยังได้เรียนรู้การนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ เรื่องบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียงด้วย
เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานหัวใจหลักประกอบด้วย 4 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ก็เริ่มเอามาใช้ในพื้นที่ของตนเอง และในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น พื้นที่ 50 ไร่ จากที่เคยทำเกษตรผสมผสานมาปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกตามแนวเขตสวนยางพารา และทั้งแนวเขตที่นา ปลูกแทรกในสวนยางพารา และปลูกเป็นป่าต้นน้ำ ตรงกลางทำหนองน้ำ ทำโคกกลางหนอง หัวคันนาทองคำ ธนาคารอาหาร หลุมพอเพียง สุดท้ายก็คือ แปลงนา ในเมื่อเรามีอยู่ มีกิน มีใช้ มีความร่มเย็น ก็จะเกิดความมั่งคั่งในเรื่องของอาหาร มั่งคั่งในเรื่องของญาติมิตร จากเดิมที่พื้นที่ที่เดิมไม่มีอะไร ก็เริ่มมีคนอยากเข้ามาศึกษามาเรียนรู้ในส่วนที่เราดำเนินการ เกิดความมั่งคั่งยั่งยืนในชีวิตประจำวัน”
•อีสานเขียว ทำให้เห็นตำตา
หลังจากแผนและเครือข่ายได้ทุ่มเทและบากบั่นนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองจนเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ เขาก็รับเป็นวิทยากร ทั้งสอนและฝึกอบอบรมชาวบ้านให้พัฒนาอาชีพ สร้างงานและรายได้จากทรัพยากรของตัวเอง การรณรงค์อีสานเขียว เพื่อให้อีสานอุดมสมบูรณ์เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ
“เมื่อก่อนเกษตรกรบอกมันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง เพราะเชื่อว่าถ้าไม่ใส่ปุ๋ยเคมีจะไม่ได้ผลผลิต แต่กลุ่ม ฅคน ฮัก ถิ่น ของเราพยายามโน้มน้าวให้ชาวบ้านเห็นว่า สมัยปู่ย่าตายายปุ๋ยหรือสารเคมียังไม่มี เกษตรกรแค่เอามูลสัตว์ที่เลี้ยงไปใส่ในแปลงเกษตร ก็ยังได้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ เราจึงรณรงค์แนวทางอีสานเขียว คือการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางอาจารย์ยักษ์สอน คือ ต้องทำให้เห็นตําตาว่าทำได้และสำเร็จ ซึ่งเครือข่ายเราก็ทำจนมีต้นแบบความสำเร็จเยอะมาก นอกจากนี้ยังนำภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของคนอีสานมาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรได้ใช้แปรรูปและถนอมอาหาร เพื่อสะสมไว้กินใช้ได้ข้ามปี เช่น ทำน้ำปลา ทำปลาร้า แจ่วบอง ฯลฯ”
•รวมพลังตามรอยพ่อฯ อย่างพร้อมเพรียง
แผนเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ตั้งแต่ปี 1 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการ และนอกจากนั้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แผนในฐานะประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน ก็เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนอีกหนึ่งโครงการ คือ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเชฟรอนประเทศไทย และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่เน้นการอบรมและสร้างครูพาทำ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก แผนและพี่น้องเครือข่ายภาคอีสาน จึงเป็นเหมือนเจ้าบ้านในการจัดงานกิจกรรม “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” ที่ อ.ภูหลวง จ.เลย
“เครือข่ายกสิกรรม ฯ ที่ผมดูแลอยู่คือทั้ง 20 20 จังหวัดของภาคอีสาน ที่ใกล้ชิดมากหน่อยจะเป็น ลุ่มน้ำสงคราม และ ลุ่มน้ำก่ำ ที่ครอบคลุม บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และ นครพนม ซึ่งลุ่มน้ำนี้มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นความเคยชินของชาวบ้าน เมื่อปี 2556 2556 น้ำท่วมใหญ่ทางลุ่มน้ำแถบนี้ ชาวบ้านก็อยากได้ทางออกที่ยั่งยืน ผมชวนให้ไปทำกิจกรรมกับโครงการรวมพลังตามรอยพ่อ ฯ ให้พี่น้องได้เห็นตัวอย่างจากแปลงอื่นในลุ่มน้ำป่าสัก ได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของเราเอง ก็กลับมาอบรมจัด ‘“ปราชญ์ชาวบ้าน” ’ ของกระทรวงเกษตร ฯ โดยผมใช้หลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติของอาจารย์ยักษ์ มีบางคนที่ลงมือทำจริงก็ได้กลับมาช่วยเป็นครู และเวลามีกิจกรรมของโครงการรวมพลังตามรอยพ่อ ฯ ก็จะไปเข้าร่วมด้วยเสมอตลอด 7 ปี โดยเฉพาะปีนี้ที่เราเป็นเจ้าบ้านก็ช่วยกันเตรียมงานล่วงหน้าจนถึงเก็บงานตามหลัง วันนี้ผมได้คนมีใจที่มีความพร้อมใหม่เพิ่มขึ้นอีก 55 คน และอีกใน 12 กลุ่มอำเภอ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม-ลุ่มน้ำก่ำ ทั้งหมดผ่านการอบรมหลักสูตรกสิกรรม 3 วัน 2 คืนแล้ว แต่ยังไม่ได้ขุดปรับพื้นที่ ตอนนี้เราเริ่มหมุนเวียนเอามื้อเดือนละครั้ง ทำงานเตรียมความพร้อม และทุกวันอาทิตย์ คนที่อยากให้ครอบครัวเข้าใจหรืออยากได้ความรู้เพิ่มก็จะพา ลูก-เมีย มาเรียนเพิ่ม คาดว่าหลังฤดูเก็บเกี่ยวต้นปีหน้านี้ เราจะสามารถเริ่มปรับพื้นที่บางแปลงได้อย่างน้อย 10 แปลง เพื่อสร้างต้นแบบตัวอย่างความสำเร็จของลุ่มน้ำนี้ให้ได้เร็วที่สุด”
•หวังทายาทเกษตรสร้างอีสานเป็นดินแดนสุรรณภูมิ
“ความคาดหวังของผม คือ อยากให้คนอีสานและทายาทเกษตรมองเห็นสิ่งดีๆ ที่บรรพบุรุษให้มา ทั้งวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติที่มี เอาสิ่งเหล่านี้มาถอดบทเรียนแล้วจะเห็นว่าคนอีสานไม่จนแล้ว จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งอีสานด้วย หากนำความรู้ที่ได้มาจากที่อื่นกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องกลับมาที่บ้านของตัวเอง มาเป็น ฅน ฮัก ถิ่น มารักษามรดกทรัพยากรที่ปู่ย่าตายายรักษาไว้ให้ ผมเชื่อว่าองค์ความรู้เหล่านี้และโดยเฉพาะเรื่องของศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นจะสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาถิ่นฐานอีสานให้มีความอุดมสมบูรณ์สมกับคำว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ”
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น