ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล (AWEN) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) ครั้งแรกในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 62 เวลา 09.15 น. ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ประเทศไทย (AWEN – Thailand) ภายใต้แนวคิด “บริบทใหม่ของผู้ประกอบการสตรีไทย...สู่ผู้นำสตรีอาเซียน 4.0” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) และคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน AWEN 2018-2020 และประธาน AWEN – Thailand กล่าวต้อนรับ
โดยมีเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีไทยจากหลากหลายธุรกิจเข้าร่วม ซึ่งนับเป็นโอกาสที่นักธุรกิจหญิงของไทยจะได้นำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จ ให้ผู้ร่วมประชุมที่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและระดับสากล ได้เห็นศักยภาพของนักธุรกิจหญิงของไทย
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน หรือ ASEAN Women Entrepreneurs Network (AWEN) ซึ่งเป็นงานประชุมระดับนานาชาติสำหรับผู้ประกอบการสตรีอาเซียน โดยมีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นแกนหลักในการจัดงาน ร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) นำโดยคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล
ประธาน AWEN 2018-2020 ซึ่งการประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน นับเป็นการประชุมของสตรีในอาเซียนที่จัดขึ้นในขณะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และยังเป็นปีที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธาน AWEN (อาเว่น) คือ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล เป็นประธาน AWEN ในช่วงวาระปี 2561-2563 จึงเป็นภารกิจอันท้าทายยิ่งที่ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทนำในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่าย การพัฒนาขีดความสามารถ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ประกอบการสตรี เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลตามเป้าหมายการดำเนินงานหลักของ AWEN ทั้งในด้านการเข้าถึงตลาดดิจิทัล การสนับสนุนและความรู้ด้านการเงิน การปรับทักษะ การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสตรีในอาเซียน และแนวคิดเชิงสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นทิศทางและแนวโน้มของผู้ประกอบการสตรีไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำสตรีอาเซียน 4.0
นายเลิศปัญญา กล่าวว่าต่อไปว่า “ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีมีความเข้มแข็ง และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในด้านการเมือง และเศรษฐกิจเท่านั้น ยังรวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย อันเป็นสามเสาหลักที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประชาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความร่วมมือเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน หรืออาเว่น (AWEN) ที่มีความสำคัญสอดคล้องและเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสามเสาหลักดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสสู่มิติต่าง ๆ ให้แก่ผู้หญิงในประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนั้น กรอบความร่วมมือภายใต้บริบทของเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน หรืออาเว่น นี้ นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมิติใหม่ของสตรีในการประสบความสำเร็จทางธุรกิจและเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามั่นคง”
อธิบดีสค.กล่าวในตอนท้ายว่า “สำหรับการประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 22 มิถุนายน 2562 โดยวันที่ 19 มิถุนายน 2562 เป็นการประชุม AWEN Thailand ภายใต้แนวคิด “บริบทใหม่ของผู้ประกอบการสตรีไทย...สู่ผู้นำสตรีอาเซียน 4.0” (AWEN Thailand Annual Business Conference 2019 “ASEAN Women’s Leadership 4.0 : The New Chapter”) และระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท สุขุมวิท ซอย 2 กรุงเทพฯ เป็นการประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวเนื่อง และพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบการสตรีที่มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียน (ASEAN Women’s Business Conference and Award Ceremony) ภายใต้หัวข้อ “พลังสตรีเปลี่ยนโลกเศรษฐกิจ มุ่งขับเคลื่อนก้าวล้ำ...สหัสวรรษ 4.0” (Globalization 4.0 and Beyond : Advancing Women Economic Empowerment Through Action and Impact) และวันที่ 22 มิถุนายน ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เป็นการประชุมผู้ประสานงานหลัก (Focal Ponit) เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับ UN Women เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของ AWEN ปี 2561 – 2563 ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสตรีของประเทศไทยและสมาชิกอาเซียน ใน 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับตัวสู่ตลาดในยุคดิจิทัล การสร้างวินัยทางการเงิน การส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการสตรีด้านการทำงาน การสร้างความยั่งยืนและความพอเพียง การเสริมสร้างให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์ในเครือข่าย ความเป็นผู้นำในระดับนานาชาติ และการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม”
คุณหญิงณัฐิกา กล่าวว่า “AWEN เป็นเครือข่ายที่มีความสำคัญ ได้รับการรับรองจาก
คณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี (ASEAN Committee on Women: ACW) ซึ่งช่วงเวลา 2 ปี ระหว่างเดือน พฤษภาคม 2561 - พฤษภาคม 2563 ที่ประเทศไทยเป็นประธาน AWEN และคาบเกี่ยวกับช่วงที่ประเทศไทย เป็นประธานอาเซียนในปี 2562 เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จะอาศัยเครือข่ายและพลังของ AWEN เพิ่มบทบาทของนักธุรกิจหญิงไทยในระดับสากล โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนการทำงานของ AWEN เป็นการทำงานแบบเครือข่ายเพื่อส่งเสริมสถานภาพสตรีในภาคเศรษฐกิจ นำพลังของผู้หญิงออกมาเพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะด้านสตรีไปได้เต็มที่ ในระดับโลก สำหรับประเทศไทยยังอยากเห็นการส่งเสริมบทบาทสตรีสู่นานาชาติให้มากขึ้น การพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงต้องทำไปพร้อม ๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และAWEN กำลังทำภารกิจนั้น ดึงศักยภาพของผู้หญิงซึ่งเป็นผู้บริหารทั้งในธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วอาเซียน ออกมาเติมเต็มกันและกันผ่านเครือข่ายเพื่อยกระดับสถานภาพสตรีในทุก ๆ ด้านในการพัฒนาสังคมประเทศไทยด้วย” คุณหญิงณัฐิกา กล่าว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น