ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.62 เวลา 9.30 น. ที่ ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองประธานกรรมการคนที่ 2 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะกรรมการ และนางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายเอ็นนู กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 การประชุมวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นที่สำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ 1 ) การกำหนดให้คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามพระราชบัญญัตินี้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 15 (3 ) ซึ่งจะต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 2) การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกโดยย่อว่า “สวส.” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Office of Social Enterprise Promotion” เรียกโดยย่อว่า “OSEP” ตั้งอยู่ ณ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการชั้น 6 เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ 0 2659 6473 และ 0 2659 6475 e-mail osep@dsdw go.th 3) ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการสรรหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. .... (มาตรา 15 (3)) ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมาจากนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 8 คน ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือกลุ่มกิจการเพื่อสังคม 3 คน ผู้ปฏิบัติงานในภาคเอกชน 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น 2 คน โดยผู้ปฏิบัติงานในภาคเอกชนและผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจะต้องมาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ด้านการลงทุน ด้านกฎหมาย ด้านสื่อสารมวลชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านพัฒนาสังคม ด้านการตลาด หรือด้านการออกแบบ
นายเอ็นนู ระบุว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) คาดหวังว่าในปีนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันมาตรการจูงใจทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มากยิ่งขึ้น และในส่วนของ พม. พร้อมที่จะสนับสนุน เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นที่รู้จัก รวมทั้งบูรณาการสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวมในด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น