ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดพิธีมอบโล่รางวัลให้กับ 112 วัด ที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติวัดที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อเป็นแบบอย่างสร้างแรงจูงใจให้กับวัดอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด ณ อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มอบโล่รางวัล และรับการถวายไทยธรรม (จีวรรีไซเคิลจากขวดพลาสติก)
พร้อมระบุว่าวัดถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนและศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับชุมชน อีกทั้งเป็นสถานที่ศึกษา ถ่ายทอดความรู้ แนวคิดที่ดีให้แก่ชุมชนและสังคม ซึ่งปัจจุบันวัดในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 39,000 วัด และมีประชาชนเข้าประกอบศาสนกิจและท่องเที่ยวสักการะจำนวนมาก หากวัดและพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระวินัยในพระไตรปิฎกที่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อห้ามทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เช่น การห้ามทำลายต้นไม้ ไม่ทิ้งของโดยง่าย ไม่ให้ทิ้งจีวรเก่า แต่ให้นำมาใช้ประโยชน์เป็นทอดๆ จนถึงผ้าขี้ริ้ว การห้ามเผาหญ้า เพราะจะลามไปเผาป่า เป็นต้น ย่อมเป็นแบบอย่างและเครือข่ายสำคัญในการปลูกจิตสำนึก เผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน และร่วมกันสนับสนุน และดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ยังคงอยู่ต่อไปได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบทบาทภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดขึ้น ให้สามารถเป็นแบบอย่างและเครือข่ายในการสร้างความตระหนัก จิตสำนึก และให้ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้วัดมีการพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ตั้งแต่ปี 2557-2561
ทั้งนี้ได้คัดเลือกวัดที่สนใจเข้าร่วมดำเนินงาน พร้อมส่งเสริมผลักดันจนผ่านเกณฑ์ประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดแล้วจำนวน 440 วัด โดยใช้เกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและประเมินผล ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ความสะอาด ความเป็นระเบียบ หมวดที่ 2 พื้นที่สีเขียว หมวดที่ 3 การจัดการสิ่งแวดล้อม หมวดที่ 4 กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และหมวดที่ 5 การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สำหรับในปีงบประมาณ 2561 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 – 16 ในการผลักดันการดำเนินงานการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีวัดผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม จำนวน 112 วัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์ ผู้ติดตามของวัดที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวน 450 คน กิจกรรมภายในงาน ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ร. 10 นิทรรศการการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด นิทรรศการของวัดที่มีผลงานโดดเด่นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและนิทรรศการของภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน และการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “มุมมองของวัดต่อบทบาทในการจัดการสิ่งแวดล้อม” โดยผู้แทนจากวัดที่เข้าร่วมโครงการและผู้ทรงคุณวุฒิ และพิธีการมอบโล่รางวัลวัดที่ผ่านเกณฑ์ประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2561 จำนวน 112 วัด แบ่งออกเป็น วัดที่ได้รางวัลระดับดีเยี่ยม 43 วัด ระดับดีมาก 41 วัด และระดับดี 28 วัด
นอกจากนี้ ยังได้มีการถวายจีวรรีไซเคิล จากขวดพลาสติกชนิดใสที่นำมาผ่านกระบวนการ Upcycling เพื่อแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล ก่อนที่จะนำมาถักทอผสมผสานกับเส้นใยเรยอนโพลีเอสเตอร์ เส้นใยฝ้าย และเส้นใยซิงค์โพลีเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย ที่ช่วยลดกลิ่นอับเวลาสวมใส่ โดยจีวร 1 ผืน จะใช้ขวดพลาสติก จำนวน 15 ขวด และถ้าเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด จะใช้ขวดพลาสติก ทั้งสิ้น 60 ขวด
พร้อมกันนี้ในงานดังกล่าว มีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ว่า กรมอนามัย เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านสุขอนามัยของประชาชน และเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการฯที่ดี กรมอนามัยจึงมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้ความรู้ ให้การอบรมตลอดจนการช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัยแก่วัดและเครือข่ายประชาชน ในโครงการฯซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่กรมอนามัยได้ร่วมและยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการเข้าร่วม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น