pearleus

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เยือนหมู่บ้าน OTOP 3 จังหวัด ใน 1 คืน 2 วัน แล้วคุณจะ..รัก..เขา..


กิจกรรมสื่อมวลชนเยี่ยมชมหมู่บ้าน OTOP  เพื่อการท่องเที่ยว... (Press Tour) ฝั่งทะเลตะวันตก  เพชรบุรี-ชุมพร-ระนอง" วันที่ 20-21 ตุลาคม 2561   ตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village ) 8 เส้นทาง




                                                                                

วันแรกเชคอิน...บ้านร่องใหญ่..เพชรบุรี.. สารพัดจะฟิน..
หากดูตามปฏิทินฤดูกาล วันที่  20-21 ตุลาคม 2561 ในเส้นทางปักษ์ใต้นั้น จะย่างเข้าฤดูฝนเกือบจะเต็มตัวแล้ว แต่สื่อสัญจรคณะเรา ไม่หวาดหวั่นกับกิจกรรม สื่อมวลชนสัญจร....ฝั่งทะเลตะวันตก เพชรบุรี - ชุมพร -ระนอง   เดินทางจากกรุงเทพ -สู่หมู่บ้านร่องหัน เพื่อเยือนหมู่บ้านร่องใหญ่ (กังหันทอง) เพชรบุรี  ที่นี่นอกจากเราจะประทับใจกับการต้อนรับจากระบำกลองยาว ที่หน้าศูนย์กังหันทอง  เราจะได้ชมทะเลโคลน  ,ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น และการสาธิตการเก็บหอยตลับ ถ่ายภาพจุด landmark และร่วมฐานกิจกรรม  สาธิตสปา 5 คน   และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือ 

                สำหรับบ้านร่องใหญ่ หมู่ที่ 7 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เดิมเรียกว่า บ้านช่องขาด เนื่อง
จากบริเวณพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าใหญ่ ต่อมามีการสร้างถนนทำเส้นทาง จนเหลือช่องขาดอยู่เพียงช่องเดียว ปัจจุบันกลายเป็นคลองขนาดใหญ่ตัดผ่านหมู่บ้าน จึงเรียกกันว่าบ้านร่องใหญ่
                หมู่บ้านมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่มีคุณค่า ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา และที่นี่ยังเป็นเส้นทางสายเกลือ (Scenic route) แหล่งผลิตเกลือสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย โดยตลอดเส้นทาง ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีจุดชุมวิวและกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม  ขณะนี้ได้มีการเพ้นต์ภาพแต่งแต้มสีสันโรงเก็บเกลือที่อยู่ริมทางให้มีความสวยงาม เป็นภาพสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนทำเกลือ
                ยังมีการสร้างสะพานไม้ทอดยาวลงไปในนาเกลือ พร้อมการต้อนรับของฝูงนกนางนวล เป็นจุดถ่ายภาพธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้จอดรถลงมาเก็บภาพสวยงามเมื่อผ่านเส้นทาง   โดยเฉพาะช่วงยามเย็นที่ฟ้าเปิดจะเห็นภาพพระอาทิตย์ตก ขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก  จนถือเป็นแลนด์มาร์คถนนสายเกลือและหมู่บ้านร่องใหญ่ เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอบ้านแหลม 

                ในพื้นที่ยังมีกังหันลมขนาดใหญ่ มีร้านค้าชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี ตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว หมู่บ้านร่องใหญ่  RONGYAI otopvillage for Tourism  ด้วย  โดยมีสินค้า OTOP ขึ้นชื่อเป็นผลิตภัณฑ์เกลือสปากังหันทอง  สามารถแวะผ่อนคลายด้วยการนวดสปาเกลือได้อีกด้วย
                เสร็จสิ้นกิจกรรม เรารับประทานอาหารพื้นถิ่น เช่น แกงคั่วใบชะครามปู  หมึกสายทอด น้ำพริกไข่เค็มกุ้งสะเออะ ปลากระพงต้มขมิ้น ขนมบัวใบชะคราม และข้าวต้มมัดใบชะคราม เป็นต้น อิ่มหนำสำราญได้เวลาเดินทางต่อ...ไปยังจ.ชุมพร


*สักการะ"พ่อตาหินช้าง"ซื้อ"กล้วยเล็บมือนางของฝากขึ้นชื่อ..ที่นี่ชุมพร*
ชุมชนพ่อตาหินช้าง  บ้านหินกูบ  ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งศาลพ่อตาหินช้าง จ.ชุมพร เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีองค์พระพิฆเนศเก่าแก่ประดิษฐานอยู่เป็นที่นับถือของคนชุมพรและบุคคลทั่วไป ศาลตั้งอยู่ติดถนนเพชรเกษมช่วงกิโลเมตรที่ 453-454  เวลาคนเดินทางสัญจรผ่านก็จะได้ยินเสียงแตรรถบีบเพื่อเป็นการสักการะ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เดินทางปลอดภัย เดินทางไปที่ไหนก็จะมีแต่โชคลาภความสำเร็จจะบังเกิด ที่ศาลนี้จะมีผู้คนมาทำการแก้บนอยู่ตลอดเสียงประทัดแก้บนดังไม่ขาดสาย 
                ที่นี่เราจะเห็นร้านค้าที่เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ของกล้วยเล็บมือนาง หลากหลายประเภท เช่น เคลือบช็อคโกแล็ต  ฉาบเค็ม ฉาบหวาน อบน้ำผึ้ง  ตากและอบธรรมชาติ  ทอดกรอบ ไอศกรีมกล้วยเล็บมือนาง ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดชุมพร ตามกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยว  จะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิที่วัดถ้ำพรุตะเคียน  ศาลพ่อตาหินช้าง พร้อมซื้อของฝาก ชมตลาดน้ำวัดเนินทอง แหล่งรวมสินค้าพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น   แวะศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชา ชมการสาธิตการทำขนมพื้นถิ่น เช่น ไข่นกกระทา ขนมใบบัว ขนมใบจาก ขนมลา  การทำกาแฟดริปและชาเขียวในชุมชน หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการแวะพักที่นี่ก็มีโฮมเสตย์ บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง


                ตำนานศาลพ่อตาหินช้าง จากบันทึกคำบอกเล่าของนายถวิล อุ้ยนอง อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านใหม่สมบูรณ์ ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ปรากฏตามรายละเอียด ดังนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2495 มีชาวไทย เชื้อสายมอญ ประมาณ 6 ครัวเรือนได้มาหักร้างถางพงปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ ณ แถบเชิงเขาพ่อตาหินช้าง  ประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ปลูกกล้วยน้ำว้า และทยอยเข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่หลังเขา ด้านที่ติดกับคลองท่าแซะอีกไม่กี่ครัวเรือน ชาวมอญซึ่งนับถือและเคร่งครัดต่อพระพุทธศาสนา ได้สร้างที่พักชั่วคราวไว้ให้พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรม โดยนิมนต์พระมาจากวัดแหลมยาง อำเภอท่าแซะ มาประจำ ณ ที่พักสงฆ์แห่งนี้
                                                                             
                ในช่วงนั้นมีการตัดถนนสู่ภาคใต้ บริษัทรับเหมาสร้างถนนมาถึงตรงเชิงเขา ก็พบกับหินก้อนหนึ่งรูปร่างคล้ายช้าง ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ช่างที่มาควบคุมงานพยายามใช้เครื่องกลหนักเพื่อเอาหินก้อนนั้นออก แต่มีปัญหารถแทรกเตอร์ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งหิน ต้นไม้ (ต้นตะเคียนทองขวางทางอยู่) ชาวบ้านบอกให้บนบานบอกกล่าวเจ้าที่ แต่นายช่างโยธาซึ่งเป็นฝรั่งไม่เชื่อ เมื่อพยายามใช้รถดันเท่าไรก็ไม่ได้ผล จึงตกลงให้ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ โดยถ้าอภินิหารมีจริงก็ขอให้ใช้รถแทรกเตอร์สามารถดันหินขึ้นเขาได้ หากไม่จริงอย่างคำเล่าลือก็จะผลักลงเขาไปเลย ผลปรากฏว่ารถสามารถดันก้อนหินคล้ายรูปช้างขึ้นเขาได้จริง ๆ ทำให้คนงานและนายช่างเกิดความศรัทธา จึงร่วมกับชาวบ้านสร้างศาลพ่อตาหินช้างขึ้น การตัดถนนเพชรเกษมก็ผ่านไปด้วยดี


                เมื่อตัดถนนเสร็จรถที่วิ่งผ่านไปผ่านมาก็หยุดสักการะ จุดประทัดกราบไหว้บูชาให้เดินทางปลอดภัย ศาลพ่อตาหลังแรกนั้นสร้างเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่อบอุ่น ปลอดภัย ต่อมามีรถของนายณรงค์ ชวนชัยศิษย์ ชาวกรุงเทพฯ เดินทางผ่านรถเกิดเสียจึงได้พักค้างคืนที่หน้าศาล และได้ทราบเรื่องพ่อตาหินช้าง จึงได้บนบานขอให้ประสบความสำเร็จในงาน แล้วจะสละตัวเป็นร่างทรงให้เจ้าพ่อ เมื่อประสบความสำเร็จดังที่ปรารภไว้ จึงรับเป็นผู้บูรณะ ปรับปรุงศาลให้ดียิ่งขึ้น และได้ตัดถนนขึ้นไปบนภูเขา เพื่อเป็นที่พักผ่อนของผู้มาเยือน
                โดยในวันที่ 24  สิงหาคม ของทุกปี นายณรงค์ กับคณะจะมาสักการะถวายเครื่องสังเวยทำพิธีเข้าทรง เพื่อช่วยเหลือลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง โดยจัดให้มีภาพยนตร์ 3 คืนหรือตามที่ขอไว้ เรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าในแถบนี้จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า พ่อตามาอยู่คู่กับคลองท่าแซะ หลายแห่ง เช่น พ่อตาหินงู พ่อตาหินก้อง พ่อตาหินช้าง ท่านจะช่วยดูแลคุ้มครองป้องกัน ไม่ให้สัตว์ที่ไม่ดีมารังแกมนุษย์ได้   หลังเขาพ่อตาหินช้าง  เป็นวังน้ำลึกมีหินที่หน้าผา รูปร่างคล้ายช้างหมอบ ล่างลงไปอีกคุ้งน้ำมีวังน้ำลึกอีกหลายแห่ง ชาวบ้านเรียกว่าวังพ่อตาและวังแม่ยายยังปรากฏเค้าลางมาถึงปัจจุบัน
                ส่วนที่มาของกล้วยเล็บมือนาง มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ นายหนู ลงจับปลาในคลองท่าแซะ ตรงวังพ่อตา ได้เห็นกล้วยเล็บมือนางก็นำมาขายที่หน้าศาลพ่อตาหินช้าง ต่อมานายต๊ะ (นายสมจิต กมสินธ์) มาเปิดร้านขายดอกไม้ ธูปเทียนประทัด และกล้วยเล็บมือนาง นายพลกับนายสาย เห็นว่ากล้วยเล็บมือนางขายดี จึงไปซื้อหน่อกล้วยลักษณะดีจากอำเภอท่าแซะมาปลูกขายให้นายต๊ะ โดยขนหน่อกล้วยมาทางเรือ เมื่อการซื้อขายมีมากขึ้น บางครั้งขายไม่หมด นายต๊ะได้นำกล้วยสุกงอมไปตากแดดมาวางขายเป็นกล้วยตาก จากนั้นชุมชนแห่งนี้ก็ปลูกกล้วยเล็บมือนางขายเป็นอาชีพหลัก และใช้กล้วยเล็บมือนางบดให้ลูกกิน ซึ่งที่อื่นใช้กล้วยน้ำว้า เมื่อมีงานบุญหรือมีแขกมาเยี่ยม ก็จะเอากล้วยเล็บมือนางรับแขก และเป็นของฝากที่ดี มีความหมาย จนเป็นเอกลักษณ์ของบ้านพ่อตาหินช้างมาจนถึงปัจจุบัน

.............................
 
วันที่ 21 ตุลาคม 2561

...หมู่บ้านหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง
หาดไร้เงา ขุนเขานมสาว ดินขาวมากมาย
พ่อท่านคล้ายศักดิ์สิทธิ์ แดนเนรมิตระนองแคนยอน...
                เช้าของวันที่สอง อา..ถึงระนอง..เดินทางออกจากโรงแรมที่พัก มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้าน....หาดส้มแป้น จังหวัดระนอง  หาดไร้เงา ขุนเขานมสาว ดินขาวมากมายพ่อท่านคล้ายศักดิ์สิทธิ์ แดนเนรมิตระนองแคนยอน...คือนิยามของที่นี่ จะเป็นจริงดั่งว่าหรือไม่ ต้องตามไปดู ..ซึ่งหลังชื่นใจกับการแสดงต้อนรับและ welcome drink  น้ำส้มเกร่า หรือน้ำของผลส้มจี๊ด ที่จะอุดมไปด้วย วิตามินเอ ซี และกรดอินทรีย์หลายชนิดสำหรับผู้ที่ไอและมีเสมหะให้นำน้ำที่คั้นได้มาผสมกับเกลือเล็กน้อยจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ ,การต้อนรับด้วยการแสดงอัตลักษณ์ชุมชน  กิจกรรมร่อนแร่ แหล่งแร่สำคัญของจังหวัดระนองโดยเฉพาะแร่ดีบุก ใช้เลียงเป็นอุปกรณ์ในการร่อนแร่ชมศูนย์เซรามิกดูการสาธิตเซรามิก ที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สะท้อนวิถีชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทนไฟสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน
               






สำหรับบ้านหาดส้มแป้น มีดินขาวอยู่มาก ซึ่งเดิมที่ตำบลนี้มีการการทำเหมืองแร่ดีบุก และในระหว่างที่มีการฉีดเหมืองเพื่อนำแร่ดีบุกขึ้นมาใช้จึงพบดินขาว ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเป็นดินขาวที่ดีที่สุดในประเทศไทย เมื่อแร่ดีบุกราคาตกต่ำจึงได้มีการวิจัยอย่างจริงจัง จึงเริ่มหันมาทำเหมืองดินขาวนำออกขาย มีการสัมปทานเหมืองดินขาวต่อกันมาถึง 3 รุ่นรวมอายุประมาณ 100 กว่าปี ปัจจุบันมีการทำเหมืองดินขาวอย่างแพร่หลายในตำบลหาดส้มแป้นนี้  เมื่อมาใช้ทำผลิตภัณ์จะทนไฟสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย สะท้อนวิถีชุมชน
                เราได้ประจักษ์ว่า หมู่บ้านหาดส้มแป้น ตำบลเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีภูเขานมสาวล้อมรอบแห่งนี้ เพี้ยนมาจากคำว่า ห้วยซัมเปียน ในภาษาจีน ซึงแปลว่า ลึกเข้าไปในหุบเขาเดิมเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ บรรพบุรุษจีนในสมัยนั้น ได้ตามสายแร่มาจนถึงพื้นที่แห่งนี้ และเรียกว่า "ห้วยชานเปียน" หรือ "ห้วยซัมปา" ก่อนที่คำจะเพี้ยนมาเป็น"หาดส้มแป้น" ในปัจจุบัน
                ตำบลหาดส้มแป้น อยู่ห่างจากอำเภอเมืองระนองประมาณ 8 กม. เข้าทางถนนเพชรเกษมผ่านสวนสาธารณะรักษะวาริน (บ่อน้ำร้อน)  เป็นหมู่บ้านชนบทที่แวดล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายหลาก  ประชาชนตั้งรกรากจากการทำเหมืองแร่ในอดีตและได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพ

ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ใช้เป็นวิถีทางในการดำรงชีวิตตนเอง

ไปบ้านหงาว...ระนอง น่ะ รับรองไม่มี...เหงา...     
                กิจกรรมที่นี่ เข้าวัดบ้านหงาว  สักการะพระพุทธรูปดีบุก ชมสินค้าท้องถิ่น  ชมระบำร่อนแร่ + ระบำบ้านหงาว ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของบ้านหงาว  , เยือนป่าชายเลนหมู่เกาะระนอง และร่วมปลูกป่าด้วย และรับรองว่า เราอดใจไม่ไหวที่จะต้องช้อป เม็ดมะม่วงหิมพานต์หรือภาษาถิ่นเรียกกาหยู สินค้าท้องถิ่นของชุมชนที่นำรายเพิ่มมูลค่าเป็นกอบเป็นกำให้ชาวบ้าน
                เช่นกัน"หงาว"เป็นอีกชื่อที่เพี้ยนมาจากภาษาจีน อีกเช่่นกัน มาจากชื่อของวัวป่า ซึ่งชาวจีนเรียกวัวป่าว่า "โหงว" เนื่องจากตำบลหงาวแต่โบราณ เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มีสัตว์ ประเภทกินหญ้าอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะวัวป่า เมื่อครั้งคอซูเจียง (ต่อมาเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี) เข้ามาบุกเบิกทำเหมืองแร่ทีนี่จึงเรียกที่นี่ว่า "ทุ่งโหงว" หรือ ทุ่งวัวป่า 


                ต่อมาเพี้ยนเป็น "ทุ่งหงาว" โดยเริ่มมีคนเจ้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454  เนื่องจากบริษัท ไซมิสทินซินติเกรต  ได้เข้ามาขอสัมปทานบัตรขุดหาแร่ดีบุก  ต่อเรือขุดแร่ขึ้น  3  ลำพร้อมกัน  จึงต้องใช้คนงานจำนวนมาก  ทั้งคนงานของบริษัท และคนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง   เช่น คนตัดฟืนขายให้บริษัททำเชื้อเพลิงสำหรับเรือขุดแร่  รวมกว่าพันคน เมื่อรวมถึงครอบครัวคนงานและพ่อค้าแม่ค้าจึงเกิดเป็นชุมชนใหญ่  จึงได้รับการยกฐานะเป็นตำบล  เรียกว่า  "ตำบลหงาว" ต่อมาพื้นที่บางส่วนของตำบลหงาวที่เป็นย่านชุมชนหนาแน่นหรือย่านเศรษฐกิจของตำบลหงาว  ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ณ  วันที่  1  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2516  จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลหงาว  อำเภอเมืองระนอง  จังหวัดระนอง  ต่อมามีพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542  มีผลทำให้สุขาภิบาลทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล  ตั้งแต่วันที่  25  พฤษภาคม พ.ศ. 2542  สุขาภิบาลหงาวจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาลตำบลหงาวจนถึงปัจจุบัน
               
ส่วนวัดบ้านหงาว เป็นวัดดังของ จ.ระนอง  มีชื่อเสียงอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง  1. วังมัจฉา มีปลาจำนวนมากและขนาดใหญ่มากตั้งแต่ปลาบึก ปลาจาระเม็ดน้ำจืด ปลาดุกยักษ์  2. อุโบสถหลังใหม่ มีรายละเอียดการตกแต่งที่สวยงามมาก 3. พระพุทธรูปดีบุก เป็นพระพุทธรูปดีบุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ตั้งของวัดบ้านหงาวจะอยู่ใกล้กับภูเขาหญ้า และ อยู่ตรงข้ามกับน้ำตกหงาว
               


ฮัดช่า...ลิเกฮูลู..ทำเอาเราอยากพันเอวด้วยบาติก..แล้วแต่งกับหนุ่มชาวเล..
                จุดสุดท้ายของสื่อมวลชนสัญจร ที่หลายคนไม่อยากจากมา  "หมู่บ้านทะเลนอกระนอง"กับการต้อนรับด้วย"ลิเกฮูลู"การละเล่นพื้นบ้านของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ของไทยเป็นเพลงประกอบดนตรีและจังหวะตบมือ ต้องบอกว่าหาดูไม่ง่าย  ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเลและวิถีการทำประมง  ดูสาธิตการทำผ้าบาติก  และที่นี่มี Landmark ถ่ายภาพแสนงาม
                หมู่บ้านทะเลนอกระนอง  เป็นหมู่บ้านริมชายหาดที่มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงชุมชนอย่างเป็นระบบและน่าสนใจ โดยในอดีตบ้านทะเลนอกตั้งบ้านเรือนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่บริเวณปากคลองติดกับทะเล และอีกกลุ่มอยู่บริเวณป่าโกงกางเหนือขึ้นมาครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 บ้านบริเวณปากคลอง ถูกทำลายไปเสียสิ้น  ชาวบ้านจึงทำการฟื้นฟูหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ โดยเน้นการอนุรักษ์ป่าโกงกาง ป่าฝน และสัตว์น้ำ
                ดังนั้นที่เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจสัมผัสกิจกรรมมากมาย กับวิถีชาวบ้านอย่างเต็มอิ่ม สัมผัสวิถีชีวิตตามจารีตประเพณีหมู่บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยป่าชายเลน กับความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแต่สะดวกสบาย มีโฮมสเตย์ชาวบ้าน จะได้นั่งเรือชมป่าโกงกาง พร้อมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคอยบรรยายให้เราได้รู้จักพืชและสัตว์ต่างๆ  ได้เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในป่าฝนบนเนินเขาที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก พร้อมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเช่นกัน


               
ชมการลากอวนชายหาด เมื่อแดดร่มลมตกในยามเย็นใกล้อาทิตย์ลับฟ้า ชาวบ้านจะพาเดินลงน้ำเพื่อไปช่วยกันลากอวนด้วย  เมื่อเดินถึงระดับที่น้ำอยู่ประมาณเอวหรืออก อวนจะถูกปล่อยลง ใช้เท้าในการตรึงอวนให้เป็นตาข่ายพร้อมกับเดินขึ้นมาชายหาดพร้อมปลาจำนวนมากมาย ปลาตัวใหญ่จะถูกเลือกไว้เพื่อทำอาหาร ขณะที่ตัวเล็กก็ปล่อยกลับลงทะเล จากนั้นจะได้ลิ้มรสอาหารทะเลปักษ์ใต้จากฝีมือหาปลาของตนเองอีกด้วย
                 จะมีกิจกรรมสาธิตและชมงานหัตถกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ  มีอยู่สองกลุ่ม  คือ กลุ่มแม่บ้านทำสบู่ และกลุ่มทำบาติก เราสามารถเรียนรู้การทำสบู่ และการวาดภาพบาติกได้จากสมาชิกกลุ่มพร้อมนำผลงานตัวเองกลับบ้านเป็นที่ระลึก หากมีเวลามากพอที่นี่เหมาะอย่างยิ่งที่จะค้างคืน รอแสงแรกของพระอาทิตย์ ความสุขล้นปรี่แน่นอน
                เวลาเพียง 1 คืน 2 วัน ที่เราใช้ไปกับการเดินทางเยือนชุมชน..อันเต็มไปด้วยอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา  วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน จนสามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปรู้จักพวกเขา...เราว่ามันคือความคุ้มค่ามากกับการที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเพื่อรู้จัก สัมผัสก่อนที่จะรักชุมชนเหล่านี้..เหมือนที่เราไปพบและ”รัก”พวกเขามาแล้ว...              
               
*******************





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น