พลเอกอนันตพร กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น ได้แก่ รูปแบบและขนาดของครัวเรือนไทย มีขนาดเล็กลง ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่คนเดียวตามลำพัง ถูกทอดทิ้ง ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม รายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และมีสภาวการณ์เจ็บป่วย
ทั้งนี้รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุทุกกลุ่ม ทั้งในด้านของการพัฒนาศักยภาพ การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ จึงริเริ่มแนวคิดในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลผลักดันเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยอาศัยพลังทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตอันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่นยืน
โดยกระทรวงการคลังได้ริเริ่มแนวคิดในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผสานความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดแหล่งเงินเข้ากองทุนผู้สูงอายุเพิ่มเติม 2 แหล่ง คือ การให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ต่อปี และการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะดีและไม่เดือดร้อนทางการเงิน
บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็นเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยมอบให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีอำนาจในการจัดสรรเงินดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเป็นผู้พิจารณาอนุมัติอัตราการจ่ายเงินดังกล่าว โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จ่ายเงินให้ผู้สูงอายุผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุมีมติให้จ่ายเงินในอัตรา ดังนี้
- ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี ได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 100 บาท จากเดิมได้รับ 300 บาท รวมเป็น 400 บาท
- ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี ได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 50 บาท จากเดิมได้รับ 200 บาท รวมเป็น 250 บาท จะจ่ายทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มจ่ายครั้งแรกในวันนี้ คือวันที่ 15 สิงหาคม 2561 สำหรับเดือนนี้จะเป็นการจ่ายเงินสมทบของเดือนกรกฎาคม 2561 ด้วย ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุที่ได้อนุมัติการจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ถึงเดือนมีนาคม 2562 ส่วนในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะพิจารณาอัตราการจ่ายตาม
สถานะการเงินของกองทุนฯ อีกครั้ง
สำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรไปกดเงินสดได้ที่ตู้กดเงินอัตโนมัติ (ATM)ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขา จำนวนเงินที่สามารถกดได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100 บาท โดยไม่มีค่าธรรมเนียม หรือจะนำไปรูดซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้า ผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ได้ด้วย ซึ่งเงินในส่วนนี้ ผู้สูงอายุที่ใช้เงินไม่หมดในเดือนนั้น สามารถสะสมเงินในบัตร เพื่อเก็บไว้ใช้ในเดือนต่อไปได้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมให้มีการดูแลผู้สูงอายุผ่านการดำเนินงานธนาคารเวลาเพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และผู้ให้จะได้รับการตอบแทนตามเวลาที่สะสมไว้ โดยการดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับผู้สูงอายุของประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง การดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุไทย โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการ ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 44 พื้นที่นำร่อง
ส่วนงาน Kick Off การให้เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้สูงอายุ ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน รวมจำนวน 250 คน ภายใต้ แนวคิด “2 ให้ 2 ได้” ของการจัดงานในวันนี้ คือ “ให้เงิน” ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ “ให้เวลา” ผ่านการดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยผู้ทำความดีจะ “ได้บุญ” และผู้สูงอายุจะได้รับ “โอกาส” ในการได้รับความช่วยเหลือ
"ท้ายที่สุดนี้ ผมขอชื่นชม และขอบคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนให้การดำเนินการให้เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารเวลา ตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และผมมีความมุ่งหวังว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยดียิ่งขึ้นสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและคุณภาพ ขอบคุณครับ"รมว.พม.กล่าวในตอนท้าย
***************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น