ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จังหวัดขอนแก่น พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิด “คลินิกให้คำปรึกษาสำหรับผู้หญิงไทยในสังคมพหุวัฒนธรรม (คลินิกสะใภ้ไทย – เขยฝรั่ง) และมอบนโยบาย พม. กับการขับเคลื่อนภารกิจด้านสตรีและครอบครัว ในประเด็นการเตรียมความพร้อมหญิงไทยก่อนไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ โดยมี
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงาน และ นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด พม. และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้การดูแลต้อนรับ
นอกจากนี้ รมว.พม. ยังได้เยี่ยมชมศูนย์แสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทอฝัน by พม. และผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้าน จาก 10 จังหวัด ของกลุ่มอาชีพในชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เรียนรู้ฯ
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัด พม. ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
อาทิ ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น เยี่ยมชมการดำเนินงานกลุ่มเซ็นทรัลด้านคนพิการ และตรวจเยี่ยมการปรับปรุงบ้านตามโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยและผู้ยากไร้ อีกทั้ง เป็นประธานการประชุมทีม พม. One Home เขตตรวจราชการที่ 12 จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม รวมจำนวน 27 หน่วยงานอีกด้วย
พลเอกอนันตพร กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความห่วงใยต่อประชากรไทยทุกคน แม้ว่าจะไม่ได้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยก็ตาม สำหรับนโยบาย พม. กับภารกิจเพื่อคนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีไทยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้มีแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 –2564 เพื่อส่งเสริมการสร้างสังคมเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติ สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคงปลอดภัย มีความรู้เท่าทันโลก สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างมีศักยภาพ การดำเนินงานด้านหญิงไทยในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญใน 2 มิติ ได้แก่ มิติของการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ และมิติด้านการส่งเสริมและช่วยเหลือ
รมว.พม.กล่าวด้วยว่า คลินิกสะใภ้ไทย-เขยฝรั่ง จะเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสมรสกับชาวต่างชาติ การเข้าถึงช่องทางการช่วยเหลือ ความสามารถในการปรับตัวและสร้างสัมพันธภาพกับบุคคล และความสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศ โดยให้บริการแก่กลุ่มสตรีที่มีความประสงค์จะเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศทั้งเพื่อการสมรสกับชาวต่างชาติ หรือที่สนใจย้ายถิ่น หรือเพื่อการทำงาน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) หญิงไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ รวมถึงผู้หญิงไทยที่สนใจย้ายถิ่นหรือเดินทางไปทำงานต่างประเทศ (2) ครอบครัว ณ ถิ่นต้นทาง คือ ครอบครัวของผู้หญิงสัญชาติไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ หรือผู้หญิงที่สนใจย้ายถิ่นหรือเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย 3) ครอบครัว ณ ถิ่นปลายทาง คือ ครอบครัวของผู้หญิงสัญชาติไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติที่มีภูมิลำเนาในต่างประเทศ หรือครอบครัวของผู้หญิงไทยที่ย้ายถิ่นหรือไปทำงาน แล้วตั้งถิ่นฐาน ณ ประเทศปลายทาง
“ผมขอขอบคุณ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน มูลนิธิ สื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงอาสาสมัครหญิงไทยที่อยู่ต่างประเทศ ที่ร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมภารกิจการช่วยเหลือหญิงไทยให้มีความก้าวหน้า และประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ผมเชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คือ หัวใจสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จของการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด” พลเอกอนันตพร กล่าวในตอนท้าย
ด้าน นายเลิศปัญญา กล่าวว่า คลินิกแห่งนี้ถือเป็นแห่งแรก ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. ตั้งขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถิติของผู้หญิงที่สมรสกับชาวต่างชาติค่อนข้างสูง และจากข้อมูล พบว่า ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่มีค่านิยมส่งเสริม สนับสนุนให้ลูกสาวแต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยคาดหวังว่าครอบครัวจะมีฐานะที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็มีผู้หญิงหลายรายที่ถูกชาวต่างชาติหลอกลวง เมื่อแต่งงานไปแล้ว พบว่า ไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายตามที่คาดหวัง และบางคนถูกกระทำความรุนแรง หรือถูกนำไปค้าประเวณีและค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
อธิบดี สค.ระบุว่า ดังนั้น"คลินิก สะใภ้ไทย-เขยฝรั่ง" จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเจตคติของครอบครัว และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการสมรสหรือก่อนตัดสินใจไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ จะมีการจัดอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไป มีเว็บไซต์ yingthai.net และ Application Yingthai ที่เป็นแหล่งให้ความรู้ และเมื่อใช้ชีวิตในต่างประเทศแล้ว สค. ยังได้สร้างเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ เป็นลักษณะอาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศคอยให้การช่วยเหลือ หรือหากผู้ที่เดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศแล้ว ประสบกับปัญหาความเดือดร้อนสามารถโทรจากต่างประเทศ (หมายเลข +66 99 130 1300) และแอพพลิเคชั่นไลน์ hotline 1300 ได้อีกด้วย สุดท้ายหากต้องการกลับมาประเทศไทย พม. ก็พร้อมประสานกับกรมการกงสุล ที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้การกลับมาเมืองไทย และช่วยเหลือด้านการพัฒนาอาชีพ ซึ่ง สค. มีศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่งในภูมิภาคให้บริการฝึกอาชีพฟรีจนจบหลักสูตร
************************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น