pearleus

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯหนุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เลี้ยงปูไข่ นำสื่อลงพื้นที่เยี่ยมบ้านปลา-ธนาคารปู จ.จันทบุรี..ชวนผู้สนใจทำโครงการของบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3- 4 ส.ค.61 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) นำสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วยเหลือชุมชน 2  โครงการ ที่แรกที่ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านปลา - ธนาคารปู ต.บางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี โดยมีนางดวงสุดา จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ,นายสมชาย ลินจง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสระเก้า ,ผู้ใหญ่บ้าน นายสถิตย์ แสนเสนาะ บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ 


โดยสนพ.ได้มอบระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้เป็นไฟฟ้าสำรอง เมื่อเกิดไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับ เพื่อให้ปูม้าหลายแสนตัวที่อนุบาลไว้ไม่ให้ขาดออกซิเจน เพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเล และเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในแนววิถีอนุรักษ์ ธรรมชาติ และสร้างอาชีพให้กับประมงพื้นบ้าน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานด้วยการติดตั้งระบบโซล่าเซล ช่วยเหลือชุมชนในการใช้พลังงานทดแทนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหากระแสไฟฟ้าดับ ลดค่าใช้จ่าย โดยชุดผลิตไฟฟ้าเซลแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลจะเป็นพลังงานในการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าและชุดปั้มเติมอากาศและปั้มสูบน้ำในการอนุบาลพันธุ์ปู ของธนาคารปู

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ให้ปูม้าที่ได้ฟักสามารถมีชีวิตรอดและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นอาหารโปรตีนของมนุษย์ ก่อนที่ชาวประมงพื้นบ้านจะจับไปขาย หรือจำหน่ายเพื่อบริโภค สร้างรายได้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่อไปในอนาคต และผลการดำเนินงานหลังติดตั้งระบบทดแทนพลังงานประสบความสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

แหล่งที่สอง เป็น “ธนาคารปูไข่”(ปูม้า)ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล มรดกทางอาชีพของชาวเลในพื้นที่อย่างยั่งยืน

โดยดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าชุมชนจันทบุรีและตราดที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลมักจะประกอบอาชีพการประมงเป็นหลักซึ่งเป็นพื้นที่ 3 น้ำ ทำให้มีกุ้ง หอย ปู ปลาที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ปูไข่เป็นที่นิยมบริโภคมาก อาจเกิดภาวะขาดแคลนพันธุ์ปู ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินโครงการธนาคารปูไข่ (ปูม้า) เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนพันธุ์ปูและเป็นการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปูไปพร้อมๆกัน

สำหรับธนาคารปูไข่ เปรียบเสมือนโรงพยาบาลรับฝากท้องของบรรดาแม่ปูทั้งหลาย จึงมีการทำกติการ่วมกันว่า เมื่อชาวประมงจับปูไข่ได้ โดยเฉพาะปูไข่นอกกระดองที่สามารถผลิตลูกได้เป็นล้านตัว ให้นำมาฝากธนาคารปูไว้เมื่อแม่ปูฟักไข่เป็นลูกปูเล็กๆแล้ว  ก็จะนำไปปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ เพื่อกลายเป็นแหล่งอาหารต่อไปแต่การดำเนินงานยังประสบปัญหาอัตราการรอดชีวิตของลูกปู เนื่องจากในบางครั้งเกิดไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจะทำให้ระบบออกชิเจนหยุดการทำงานส่งผลให้ลูกปูที่กำลังอนุบาลตายลง หากมีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นต้นแบบพลังงานทดแทนและใช้เป็นไฟฟ้าสำรองเมื่อเกิดไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับระบบต่างๆก็ยังทำงานได้ปกติเพิ่มโอกาสให้ลูกปูหลายแสนตัวรอดชีวิตได้

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจึงได้ให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(ธนาคารปูไข่)ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่จ.จันทบุรี เป็นโครงการภายใต้โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการตนเองด้านพลังงานปี 2560 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนติดตั้งระบบเติมอากาศบ่ออนุบาลปูด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยรูปแบบของธนาคารปูไข่เป็นการอนุรักษ์และเพิ่มทรัพยากรปู โดยดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบเติมอากาศด้วยพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ขนาด 1,500 วัตต์ ภายในบ่ออนุบาลปูม้าไข่ รวมทั้งใช้กับอุปกรณ์อื่นๆจำนวน4ระบบเพื่ออนุรักษ์และเพิ่มประชากรปูไข่

นอกจากนี้จะช่วยบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างเหมาะสมจากการประเมินผลพบว่า ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้กว่า 29,500 บาทต่อปี และเพิ่มสัดส่วนการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนตามนโยบายกระทรวงพลังงาน ไม่น้อยกว่า 0.67 toe/ปี หรือคิดเป็นคิดเป็น 7,800 หน่วย/ปีจากบ่ออนุบาลจะช่วยเติมเต็มชีวิตสัตว์ท้องทะเลในปริมาณเพิ่มขึ้น
ชาวประมงชายฝั่งจึงได้รับประโยชน์จากการจับไปขายสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้รัฐบาลโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีความพร้อมที่จะช่วยส่งเสริม “ธนาคารปูไข่” ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งในอีก 3ปีนี้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีความตั้งใจช่วยสนับสนุนการจัดตั้งส่งเสริมธนาคารปูไข่ (ปูม้า) อีกกว่า 100 จุดต่อปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ประชาชนที่มาทำธนาคารปูไข่มักจะเป็นจิตอาสาที่ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆโดยรัฐบาลจะพร้อมช่วยเหลือในการลดค่าไฟฟ้าเพราะกิจกรรมนี้ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก โดยสังเกตุจากเวลาที่ปูวางไข่แล้วเขี่ยไข่ออกจะต้องได้รับออกซิเจนตลอดระยะเวลา 7 วันที่แม่ปูพักฟื้น อีกทั้งธนาคารปูไข่หลายแห่งก็อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายสาย ที่มักมีไฟตกไฟดับบ่อย

หากใครสนใจสามารถติดต่อได้ที่พลังงานจังหวัดในทุกจังหวัด ในการยื่นข้อเสนอโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ได้ตั้งแต่วันนี้ - 10 สิงหาคม 2561 (เวลา 16.30 น.)

***********************************************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น