“รถเมล์” นับว่ายังเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับคนกรุงที่ไม่มีรถส่วนตัวใช้อยู่วันยังค่ำแม้การโดยสารรถเมล์
จะมีข้อดีในแง่ความประหยัด แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็ต้องทนกับความเบียดเสียดยัดเยียด
โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน รถเมล์บางสายก็รอแล้วรอเล่า
นานเหลือแสนกว่าจะเสด็จมาจอดที่ป้ายได้ และที่สำคัญกระเป๋ารถ
ซึ่งทุกวันนี้หาได้ยากมากที่เราจะเจอะเจอโชเฟอร์ และกระเป๋ารถที่มีมารยาทดีจริงๆ
ทำให้ต้องหวนนึกไปถึงเมื่อครั้งอดีตที่กรุงเทพฯ มีรถเมล์สายแรกวิ่งให้บริการที่เรียกว่า
“รถเมล์ขาวของนายเลิศ” ว่ากันว่าทั้งคนขับ
และกระเป๋าในสมัยนั้นมีมารยาทสุภาพอ่อนโยนเป็นที่สุดครับ..
นายวันชัย พลายงาม หรือ คุณลุงวันชัย
วัย 64 ปี แกก็คือหนึ่งในกระเป๋ารถเมล์
ที่มีมารยาทสุภาพอ่อนโยนในยุคสมัยนั้น คุณลุงวันชัย เล่าให้ฟังว่า
ได้เข้าทำงานบริษัท นายเลิศ จำกัด ตั้งแต่ พ.ศ.2511
ในตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสาร (กระเป๋ารถเมล์) สาย 2 สำโรง
- ปากคลองตลาด (ปัจจุบันสาย 2 ก็ยังวิ่งเส้นทางนี้อยู่)
ต่อมา พ.ศ.2517 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานนายตรวจ ต่อมา พ.ศ.2518
รัฐบาลได้รวมบริษัทรถเมล์ต่างๆเข้าด้วยกันโดยใช้ชื่อว่าบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด
ซึ่งคุณลุงวันชัยได้ย้ายมาอยู่บริษัทนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2519
ได้ยุบบริษัทมหานครขนส่งฯ แล้วตั้งเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
โดยคุณลุงวันชัย ได้ทำงานที่ ขสมก.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2519
(วันสถาปนา) ในตำแหน่งพนักงานนายตรวจ
ตามตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นสมัยอยู่บริษัทนายเลิศ จำกัด
และตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณ คุณลุงวันชัยเป็นพนักงานนายท่าปล่อยรถสาย102(ปากน้ำ – สาธุประดิษฐ์)ในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้ย
เป็นสาย(ปากน้ำ-ช่องนนทรี)
ที่จริงแล้วตระกูลของคุณลุงวันชัยทำงานที่บริษัทนายเลิศมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ
คุณแม่ เช่น
1. นายประเสริฐ พลายงาม
ช่างต่อรถ (สมัยก่อนรถโดยสารทำจากไม้ทั้งคัน)
2. นางถนอม พลายงาม
แม่บ้าน
3. นายนรสิงห์ พลายงาม ช่างเครื่องยนต์
4. นายวันชัย พลายงาม
พนักงานเก็บค่าโดยสาร
พอมาถึงยุคหลังๆทั้งหมดก็เปลี่ยนมาอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
หรือ ขสมก.กันทั้งหมดซึ่งในปัจจุบันยังมีรุ่นลูกที่ทำงานอยู่ที่
ขสมก.นับว่าสืบทอดกันมาร่วมกว่า 50 ปี
ในส่วนเรื่องของมารยาท ในหน้าที่
ที่มีต่อผู้โดยสาร คุณลุงวันชัยบอกว่า “ในสมัยนั้น
คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ซึ่งเป็นลูกสาวของนายเลิศ
จะมีการอบรมพนักงานประจำรถเป็นประจำทุกเดือนเกี่ยวกับการให้บริการประชาชนว่า
ต้องให้บริการประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ด้วยความเอาใจใส่
อย่าไล่ผู้โดยสารลงจากรถเป็นอันขาดแม้เขาจะไม่มีค่าโดยสาร
เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัท
ซึ่งคุณหญิงฯกล่าวว่า สักวันหนึ่งถ้าเขามีเงินเขาก็จะให้ค่าโดยสารเราเอง
ถ้าไล่เขาจะทำให้เราเสียลูกค้าในอนาคต”
ส่วนตัวคุณลุงวันชัย
เองได้สอนรุ่นลูกๆเสมอว่า”อย่าทุจริตต่อหน้าที่
เพราะมันจะทำให้เราไม่เจริญ และควรปฎิบัติตามกฎ ระเบียบขององค์การอย่างเคร่งครัด
ให้บริการด้วยความสุภาพ เป็นมิตร
เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการมากที่สุด” คุณลุงวันชัย
กล่าวทิ้งท้าย!!
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น