pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2561

สรส.รุก"บิ๊กตู่"ทวงคำสัญญาไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจเด็ดขาด คาดหลังสงกรานต์"กสท.-TOT"นัดรวมพลครั้งใหญ่เดือดแน่ เผยจนท.ระดับสำคัญทยอยลาออก-ระดมเงินหนุนสู้ทางกม.

ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยสหภาพแรงงานทีโอที  และสหภาพแรงงานกสท. ราว 3,000 คน ได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามคำตอบ เรื่องการโอนย้ายทรัพย์สินของบริษัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปยังบริษัทโครงข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC)  อย่างต่อเนื่อง ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  ขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ยุติ นโยบายในการจัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC) และการโอนย้ายทรัพย์สิน ของบริษัททีโอที และกสท.ไปยังทั้ง 2 บริษัท

โดยสมาพันธ์ฯได้ย้อนแย้งไปยังนายกรัฐมนตรีว่าการแถลงตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศว่ามีความจำเป็นต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด แต่การตั้งบริษัท NBN และ NGDC และการถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยังบริษัททั้งสอง คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขัดต่อคำแถลงของนายกรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิงรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ได้ทำหน้าที่หลักของประเทศชาติในเรื่องการสื่อสารและระบบโทรคมนาคมมาเป็นเวลาช้านาน แต่ถูกแปรรูปบางส่วน (ส่วนมาก) ไปให้เอกชนเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมาทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองอยู่ในสภาพที่ตกต่ำไม่สามารถมีศักยภาพใน
การให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่ ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนได้รับผลกระทบจากการใช้บริการที่แพงขึ้น ไม่มีทางเลือกและเอกชนก็ผูกขาดเอาเปรียบประชาชน การดำเนินการตั้งบริษัทขึ้นใหม่และจะมีการถ่ายโอนสินทรัพย์ที่มีคุณภาพให้บริษัททั้งสองในที่สุดก็จะถูกเอกชนเข้าครอบครอง ถือเป็นการแปรรูปซ้ำสอง ทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งจะล่มสลายในที่สุด ประชาชนเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และในอนาคตจะทำให้ประเทศชาติสูญเสียความมั่นคงทางการสื่อสารและระบบโทรคมนาคม

ทั้งนี้การจัดตั้งบริษัท NBN และ NGDC ขัดต่อหลักการธรรมาภิบาล คือ 1.หลักคุณธรรม:อันหมายถึงรัฐไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 2.หลักนิติธรรม: อันหมายถึงการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเรื่องการจัดตั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ การถ่ายโอนสินทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน 3.หลักความโปร่งใส: อันหมายถึง การดำเนินการเป็นเพียงรัฐบาลและผู้บริหารเท่านั้น ทั้ง ๆที่เรื่องการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติและประชาชน 4.หลักความมีส่วนร่วม อันหมายถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน ภาคประชาสังคมและผู้ใช้บริการ แม้ว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้พยายามทักท้วงหลายครั้ง แต่ก็ยังเดินหน้าโดยไม่มีการรับฟังเหตุผลแต่อย่างใด 5.หลักความรับผิดชอบ : อันหมายถึงการดำเนินการดังกล่าวรัฐ

กำลังยกเรื่องการบริหาร การจัดการ การบริการระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งในประเทศและต่างประเทศไปให้เอกชน (แม้ว่าวันนี้จะบอกว่ายังเป็นรัฐวิสาหกิจแต่วันข้างหน้าไม่มีหลักประกันใด ๆ เฉกเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ถูกแปรรูปไปรวมทั้ง ทีโอที และ กสท) นั่นหมายถึงรัฐจะไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน 6.หลักความคุ้มค่า: อันหมายถึง ก่อนที่ ทีโอที และ กสท จะถูกแปรรูป หน่วยงานทั้งสองในอดีต คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ทั้งสององค์กรสถาปนาขึ้นด้วยพระราชปณิธานของพระพุทธเจ้าหลวง ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปกว่า 100 ปีด้วยบุญญาบารมี พระ
ปรีชาสามารถทำให้ประชาชนยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างไม่มีวันลืมเลือน การดำเนินการดังที่กล่าวมาแน่ชัดว่าเป็นการทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งเสียหายอันเป็นการขัดต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน อีกประการหนึ่งก่อนหน้านี้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งส่งรายได้เข้ารัฐปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท เมื่อแปรรูปไปทำให้รัฐขาดรายได้มหาศาล และยิ่งถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยิ่งทำให้รัฐขาดรายได้ แต่กำไรและรายได้เหล่านั้นแทนที่รัฐจะได้รับ กลับไปอยู่ในมือของเอกชน

การตั้งบริษัทใหม่การถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยังบริษัทใหม่ทั้งสองเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 60 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติรัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกํากับการดําเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจําเป็นป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทําที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คํานึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดําเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

อีกประการหนึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ไม่เห็นด้วยและได้เปิดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อชี้แจงให้สมาชิกได้เข้าใจและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งผลจากการประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง มีมติเป็นเอกฉันท์ คือ ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบริษัทใหม่ทั้งสองบริษัทและคัดค้านการถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยังบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพราะถือเป็นการโอนย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บริษัทแม่สูญเสียสมรรถนะการให้บริการแก่ประชาชน เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะที่สุดแล้วสินทรัพย์ที่ดีไปอยู่บริษัทใหม่และจะโอนให้เอกชนไปในที่สุด ทำให้ประเทศชาติสูญเสียเรื่องความมั่นคงด้านโทรคมนาคม เกิดการขาดผูกขาดและประชาชนจะได้รับผลกระทบในการใช้บริการในราคาที่แพงขึ้น

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามหลักการบัญญัติของกฎหมายสูงสุดและระบบธรรมาภิบาล และการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลโปรดพิจารณาเพื่อยุติเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน แล้วแสวงหาแนวทางร่วมกันจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งส่วนของรัฐบาล ผู้บริหาร สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินการให้ได้ข้อยุติบนความเห็นพ้องของทุกฝ่ายโดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญ หลักธรรมาภิบาล
และเชื่อมั่นว่าข้อเสนอดังที่กล่าวมาจะได้รับการพิจารณาจากท่านอย่างเร่งด่วนต่อไป


อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ประชาสัมพันธ์ สรท. แถลงจุดยืน ต่อคำสั่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ 27/2561 ความว่า  เรื่อง จุดยืนของ สรท. ต่อคำสั่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ 27/2561 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม NBN และ NGDCสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 เห็นชอบหลักการให้จัดตั้ง NBN Co. และ NGDC Co. และโอนทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปให้ NBN Co. และ NGDC Co. ประกอบกิจการแทน จะส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อย่างรุนแรง ทำให้ บมจ.ทีโอที จะไม่เหลือคุณค่าในฐานะของการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ของ บมจ.ทีโอที ในฐานะของบริษัทแม่ ต่อบริษัทลูก จะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จำเป็นที่จะต้องมี บมจ.ทีโอที ในธุรกิจอีกต่อไป

สรท. ได้ยื่นหนังสือคัดค้านหลายครั้งหลายคราว แก่ผู้รับผิดชอบการประกอบกิจการของ บมจ.ทีโอที ในระดับต่างๆ มีอาทิเช่น ประธานกรรมการกิจการสัมพันธ์ บมจ.ทีโอที กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายกรัฐมนตรี แต่ก็มิเป็นผล บัดนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที (กจญ.) ได้จัดตั้ง NBN Co.

รวมทั้งจัดทำบัญชีทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปให้ NBN Co. เป็นที่เรียบร้อย โดยไม่ดำเนินการให้ครบถ้วน ตามมติ ครม. ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการก่อนการจัดตั้ง NBN Co. มีอาทิเช่น ไม่ได้ดำเนินการตามข้อ 1.2 ที่ให้ ดศ. กำกับดูแล บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้ส่งแผนการปรับเปลี่ยนธุรกิจและแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการเสนอคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาเห็นชอบ และภายหลังการจัดตั้ง NBN Co. และ NGDC Co. จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจากคณะกรรมการ กสทช. ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. และยังไม่ได้ดำเนินการอีกหลายขั้นตอน เป็นต้น

การดำเนินการของ กจญ. ที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติ ครม. ก่อนการจัดตั้ง NBN Co. รวมทั้งการนำทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปโอนให้ NBN Co. ทั้งๆ ที่ ทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมนั้น เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ บมจ.ทีโอที รับโอนสิทธิการใช้ตามกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เพื่อใช้ในการประกอบกิจการแต่เพียงผู้เดียว มิอาจโอนให้นิติบุคคลอื่นใดได้ เข้าข่ายการกระทำความผิดมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับทราบการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนตามมติ ครม. ดังกล่าวของ กจญ. รวมทั้งกระแสการคัดค้านของพนักงาน บมจ.ทีโอที ทั่วประเทศ ที่ลุกขึ้นมาสวมชุดดำ คัดค้านการโอนทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารฯ ของ บมจ.ทีโอที ไปให้ NBN Co. และผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลงานให้บริการลูกค้า ได้ให้ความเห็น อธิบายผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการที่แย่ลง หากมีการโอนทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารฯ เช่น อุปกรณ์ ODN และ OLTของ บมจ.ทีโอที ไปให้ NBN Co. รวมทั้งปัญหาการประสานงานระหว่าง บมจ.ทีโอที กับ NBN Co. ที่ยังไม่เคยกำหนดกระบวนการทำงานร่วมกันเลย ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงได้ออกคำสั่งที่ 27/2561 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม NBN และ NGDC

สรท. มีความเห็นว่า เจตนารมณ์ของการออกคำสั่งดังกล่าว เป็นการยืนยันปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการไม่ครบถ้วนตามมติ ครม. ก็เลยดำริจะตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาทำให้ครบขั้นตอน เหมือนการให้สัตยาบันไปรับรองการกระทำที่ไม่ครบถ้วนนั้น จะถือว่าเป็นการทำให้หลักกฎหมายเพี้ยนไป สรท. เห็นว่า การฝ่าฝืนกฎหมายกับการกระทำไม่ครบถ้วนเป็นคนละเรื่องกัน ในขณะนี้ กจญ. ได้กระทำการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย ดังนั้น หากจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องเริ่มต้นด้วยขั้นตอนที่ หนึ่งใหม่หมด ไม่ใช่เกิดปัญหาด้วยการตั้งคณะทำงาน

สรท. ยังคงยืนยันว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพและลดการซ้ำซ้อน ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการจัดตั้งบริษัทใหม่ และการตั้งบริษัทใหม่นั้น ผู้ที่มีผลได้ผลเสีย ที่เป็นพนักงานส่วนใหญ่และผู้บริหารหลายท่าน ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านและนำเสนอแนวทางอื่นให้พิจารณาแล้ว นอกจากนี้ สรท. ยังคงยืนยันเจตนารมณ์ ตามที่ได้มีหนังสือเรียนปลัดกระทรวง ดศ. เพื่อพิจารณาไว้แล้ว ดังนี้

ยกเลิกแนวทางการฟื้นฟู บมจ.ทีโอที ด้วยการแยกทรัพย์สินของ บมจ.ทีโอที ไปไว้ที่ NBN Co., NGDC Co. ขอให้พิจารณากำหนดแผนธุรกิจ (Business Model) ของ บมจ.ทีโอที เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ แทนการแยกทรัพย์สินไปไว้ในบริษัทลูก NBN Co. โดยให้ บมจ.ทีโอที มีพันธกิจในการสร้างโครงข่าย บรอดแบนด์ภายในประเทศ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับความมั่นคงของประเทศ และการพัฒนาประเทศเข้าสู่สังคมดิจิทัลด้วยนโยบาย Thailand 4.0 และให้มีพันธกิจในการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม เช่น การสร้างโครงข่ายให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
ความเจริญ ที่ไม่มีการแข่งขันในการให้บริการระหว่างผู้ให้บริการรายอื่นๆ การให้ บมจ.ทีโอที สร้างโครงข่าย USO Net แทนการให้ กสทช. ทำการประมูลจัดหาผู้ที่จะให้บริการในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เป็นต้น

ในการกำหนดแผนฟื้นฟู บมจ.ทีโอทีขอให้ สรท. และพนักงาน บมจ.ทีโอที ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอแนวทาง เพื่อให้ได้แผนฟื้นฟู บมจ.ทีโอที ที่ตกผลึกจากทุกฝ่ายแบบไตรภาคี อันประกอบด้วย ผู้แทนรัฐ ฝ่ายบริหาร และสหภาพแรงงาน ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน

NBN Co. ที่จัดตั้งขึ้น ขอให้ทำหน้าที่รับงานสร้าง/ขยายโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นเนื้องานที่มีความจำเป็น หากรัฐบาลต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (โครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศให้มากกว่า 94 % ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ทั้งนี้ โครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสงที่สร้างขึ้น หากเป็นสื่อสัญญาณสำหรับการสื่อสารภายในประเทศ ให้ บมจ.ทีโอที ครอบครองและใช้ประโยชน์ เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ อันเป็นประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นพันธกิจของรัฐที่ต้องจัดหา/จัดให้มีแก่ประชาชนของประเทศ ที่มิใช่เพื่อการแข่งขัน

หากกระทรวง ดศ. และรัฐบาลเห็นด้วยตามข้อเสนอข้างต้น สรท. ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อช่วยกันสร้าง บมจ.ทีโอที ให้มีความเข้มแข็ง สามารถให้บริการแก่ประชาชนอันเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการใช้บริการสื่อสารฯ และสร้างดุลอำนาจมิให้เอกชนเข้ามาแสวงหาผลกำไรในธุรกิจด้วยการตั้งราคาค่าบริการที่แพง อันเป็นกำแพงการเข้าถึงของประชาชนที่ด้อยโอกาสต่อการใช้บริการสื่อสารฯ ของประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีพนักงานบริหารระดับผู้จัดการศูนย์ ผู้จัดการส่วน ไปจนถึงระดับปฏิบัติการหลากหลายตำแหน่งทยอยกันลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นการประท้วงปัญหาครั้งนี้และหลังจากเลยเทศกาลสงกรานต์ไปแล้วจะมีการนัดรวมตัวกันครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยในส่วนของ สหภาพ TOT  นัดประชุมวิสามัญในวันที่ 25 เมษายน 2561 นี้ ณ สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ 

นอกจากนี้ได้มีการระดมทุนเพื่อเตรียมการสำหรับให้ความช่วยเหลือหากพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดี


*******************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น