พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ในสังคมปัจจุบัน มีความรุนแรงยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ซึ่งข้อมูลของกระทรวง พม. พบว่าในปี 2558 มีจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว 616 ครั้ง และมีจำนวนเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงในทุกด้าน เฉลี่ยวันละ 35 คน ปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี ในด้านผลกระกระทบต่อครอบครัว สถาบันครอบครัวขาดความอบอุ่น มั่นคง สถาบันครอบครัวมีความแตกแยก ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสังคม รวมทั้งประเทศชาติในอนาคต
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม.โดย สค.ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านครอบครัว ได้ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมดังกล่าว โดยสร้างความอบอุ่นและเข้มแข็งของครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว ด้วยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในรูปแบบ “ประชารัฐ” และเพื่อให้เป็นไปตาม “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals–SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 คือ การบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน กระทรวง พม. ได้กำหนดเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้ดำเนินงานในการยุติหรือแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วย 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1) การสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวจากความรุนแรง โดย กระทรวง พม. ได้ดำเนินการสร้างความตระหนัก เข้าใจ เข้าถึงสิทธิของประชาชน การรณรงค์ปรับทัศนคติของสังคมและครอบครัว สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และเครือข่ายในการเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัวภายในพื้นที่ 2) การคุ้มครองช่วยเหลือ กระทรวง พม. ได้วางระบบงาน และปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพในการคุ้มครองช่วยเหลือครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 คุ้มครองผู้ถูกกระทำให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยทั้งในครอบครัวและสังคม พร้อมทั้งบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำแทนการลงโทษจำคุกเพื่อไม่ให้กลับมากระทำซ้ำ และ 3) การเสริมพลัง กระทรวง พม. ได้ดำเนินการทางสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ อาทิ การติดตามเยี่ยมบ้าน การสร้างอาชีพ รายได้ ให้ความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมาย
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเต่ออีกว่า สำหรัสัมมนาครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อเด็กสตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาการแสดงนิทรรศการจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย และการร่วมแสดงสัญลักษณ์การรณรงค์สร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวนับเป็นโอกาสที่จะได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงาน กับหน่วยงานที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลงและหมดไปจากสังคมไทย
“อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินงาน โดยมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นพื้นฐาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุด คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว การสร้างความสมานฉันท์ และการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ทั้งผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำความรุนแรง รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องสามารถกลับคืนสู่สังคม และเสริมพลังในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้มแข็ง มั่นคงของสังคมและประเทศชาติต่อไป” ตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย
################
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น