pearleus

วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ทูตอินโดฯพร้อมคณะเข้าขอบคุณพม. ที่ช่วยเหลือหญิงชาวอินโดฯที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวในไทย


                 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.59 เวลา 14.00 น. ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงฯ ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.)พร้อมด้วยนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้การต้อนรับ H.E. Mr. Ahmad Rusdi เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ประกอบด้วย Mr. Priyo Waseso ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ  Mrs. Shanti U.retnamingsi หัวหน้ากงสุล และนางอัมพร สนะฟี เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ในโอกาสที่เข้าพบเพื่อขอแสดงความขอบคุณ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ดำเนินการช่วยเหลือหญิงชาวอินโดนีเซียที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวในราชอาณาจักรไทย
                   นายไมตรี กล่าวว่า ตามที่ ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก. สค.) ได้รับการประสานส่งต่อ   จากมูลนิธิผู้หญิง และสถานทูตอินโดนีเซีย กรณี Mrs. A (นามสมมุติ) หญิงชาวอินโดนีเซีย ถูก Mr. B (นามสมมุติ) สามีต่างสัญชาติใช้ความรุนแรงด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้พิจารณาเห็นว่ากรณีดังกล่าว เป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วย   ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย มีผลตามกฎหมาย จึงเร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาด้านอารมณ์และจิตใจ พร้อมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาการช่วยเหลือ  แนะนำดำเนินการด้านกฎหมาย  ตลอดจนการประสานงานและอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ  ซึ่งต่อมา นางอัมพร สนะฟี เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายสถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ได้ประสานมายัง ศปก. สค. ว่า H.E. Mr. Ahmad Rusdi เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ขอแสดงความขอบคุณและความประทับใจ  ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลผู้รับบริการหญิงชาวอินโดนีเซียดังกล่าวเป็นอย่างดี และได้รับ   รายงานว่า มีหลายกรณีที่ชาวอินโดนีเซียได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้เดินทางมาแสดงความขอบคุณด้วยตัวเอง
 นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า จากกรณีดังกล่าว นับเป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยมีรูปแบบ และวิธีการทำงานที่หลากหลาย ทั้งการรณรงค์ปรับทัศนคติ การให้ความรู้ทางกฎหมาย สิทธิ และการคุ้มครองทางกฎหมายที่รัฐจัดให้กับประชาชน การสร้างระบบรับแจ้งเหตุ   และกระบวนการช่วยเหลือที่เป็นระบบ ตลอดจนการพัฒนาระบบกฎหมาย มาตรการ กลไก และพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่  ที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ใช้กลไกในทุกระดับเพื่อรณรงค์สร้างกระแส “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว”เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชน เฝ้าระวัง ป้องกันแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ชุมชน ให้ความรู้ด้านกฎหมายช่องทางการช่วยเหลือปรับทัศนคติคนในชุมชน เยาวชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เพื่อให้พื้นที่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตามสถานการณ์  ของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายคือ ลดความรุนแรงในครอบครัว โดยกระบวนการของภาคประชาสังคมและสหวิชาชีพในพื้นที่ ระดับภูมิภาค จังหวัด : One roof แก้ไขปัญหาความรุนแรง : ทำงานแบบสหวิชาชีพ การสร้างเครือข่ายการทำงานบูรณาการความร่วมมือกับท้องถิ่น รัฐ เอกชน ประชาสังคม สื่อมวลชน จนถึงระดับชาติ ประชารัฐร่วมใจ ไร้ความรุนแรง การปรับทัศนคติ ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ตลอดจนสื่อมวลชนในการรณรงค์ และระดับนานาชาติ ในการดำเนินการตามพันธกรณี นานาชาติ แผนอาเซียน
(มุ่งเน้นการบรรลุ SDGs วิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี : ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น