pearleus

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รมว.ยธ. มอบนโยบายและบูรณาการงานป้องกัน 4 กระทรวงหลัก หวังลดปริมาณแรงงานยาเสพติด

วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558 เวลา 13.30 น. สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม จัดการประชุมบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันในโครงการ/กิจกรรมสำคัญด้านการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษาและกลุ่มแรงงาน โดยมี พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำมากำหนดแนวทางบูรณาการปฏิบัติในกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษาและกลุ่มแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส.
                จากข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดรักษาตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่า ช่วงอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่เข้ารับการบำบัดรักษาสูงที่สุด ซึ่งช่วงวัยดังกล่าวถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเฉพาะเยาวชนนอกสถานศึกษาที่มีโอกาสเสี่ยงต่อยาเสพติดมากกว่าเยาวชนในสถานศึกษา ถึง 5 เท่า และข้อมูลจากระบบสารสนเทศ   ยาเสพติดจังหวัด (NISPA : Narcotics Information System For Province Agency) พบว่า พฤติกรรมเสี่ยงที่เยาวชนมีมากที่สุด คือ การมั่วสุมในร้านเกมส์ ที่สาธารณะ และกลุ่มซึ่งรถ ส่วนประชากรที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงรองลงมา คือ กลุ่มช่วงอายุ 21-25 ปี ซึ่งเป็นวัยแรงงานตอนต้น เป็นกำลังการผลิตของเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นวัยเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ ประกอบกับสภาวะปัญหา ค่านิยม คุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมที่เบี่ยงเบน เทคโนโลยีการสื่อสาร สื่อสังคมออนไลน์ สภาวการณ์ทางการศึกษาที่ยังไม่ดีเพียงพอที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการพัฒนาทักษะชีวิต การเรียนรู้และการรู้เท่าทันต่อปัญหาต่างๆ  ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นเงื่อนไขผลักดันให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงและเข้าสู่วงจรปัญหายาเสพติด
ดังนั้น รัฐบาล โดยพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ จึงเล็งเห็นว่าที่ผ่านมาแม้จะได้มีการดำเนินการเพื่อควบคุมและลดปริมาณยาเสพติดด้วยมาตรการด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดำเนินมาตรการบำบัดฟื้นฟูเพื่อควบคุมและลดปริมาณผู้เสพผู้ติดยาเสพติดแล้วก็ตาม แต่ปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดจะยังคงอยู่ เนื่องจากยังไม่ได้มีการควบคุมปัญหาอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการป้องกันยาเสพติดเพื่อลดความต้องการยาเสพติดของประชากรกลุ่มที่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงจำเป็นต้องดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เยาวชนที่อยู่นอกสถานศึกษา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน และลูกจ้างแรงงานในสถานประกอบการ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ รวมประมาณ 8 ล้านคนทั่วประเทศ    ซึ่งหากประชากรกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันยาเสพติด ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของประชากรวัยแรงงานและวัยสร้างครอบครัวใหม่อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องก่อให้เกิดปัญหาตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงสังคมโดยรวม ทั้ง 2 กลุ่ม จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข


ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อให้เกิดกลไกและกระบวนการทำงานรณรงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมเกิดกระแสตระหนักในปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด และเกิดความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดมากขึ้น รวมทั้งเพื่อสร้างช่องทางและกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชนและสถานประกอบการของตนเองได้ โดยเน้นว่าการขับเคลื่อนงานในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จะบรรลุความสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการการปฏิบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นความสำคัญร่วมกันในการดำเนินงานสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดอย่างจริงจังและครอบคลุม โดยใช้แนวคิดหลักในการเพิ่มศักยภาพกลไกเชิงพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ให้สามารถปฏิบัติภารกิจในกลุ่มเป้าหมายได้ โดยหลีกเลี่ยงการสร้างกลไกใหม่โดยไม่จำเป็น และเชื่อมโยงกระบวนการทำงานเดิมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความประสานสอดคล้องมีความชัดเจนและ        มีเอกภาพในการทำงานมากขึ้น โดยมีโครงการสำคัญ 3 โครงการหลัก ได้แก่
1) โครงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์เยาวชนในระดับพื้นที่ โดยกระทรวงมหาดไทยและสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกันฟื้นฟูเยาวชนในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกพัฒนาเยาวชน และเพิ่มศักยภาพกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน-ประธานชุมชน และเจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิการสังคมและพัฒนาชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ได้แก่ อบจ. เทศบาล อบต. เมืองพัทยา และกทม. เพื่อให้สามารถเป็นบุคลากรสำคัญในการจัดกิจกรรมพัฒนาเยาวชนเพื่อป้องกัน         ยาเสพติดแก่เยาวชนนอกสถานศึกษาในหมู่บ้านชุมชน 81,919 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,853 แห่งทั่วประเทศ
2) โครงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในกลุ่มแรงงาน โดยกระทรวงแรงงาน และ         สำนักงาน ป.ป.ส. เพิ่มศักยภาพอาสาสมัครแรงงาน เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญ ในการเผยแพร่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันฯ และสำรวจข้อมูลแรงงานทั้งนอกระบบฯ และในสถานประกอบการร่วมกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และพัฒนาชมรมเครือข่ายผู้ประกอบการในสถานประกอบการ ซึ่งปัจจุบันแรงงานนอกระบบสถานประกอบการ อาทิ แรงงานภาคเกษตรกรรมรับจ้างอิสระ,ค้าขาย,กิจการอิสระฯ รวมประมาณ 28 ล้านคน และแรงงานในสถานประกอบการรวมประมาณ 8 ล้านคน
3) โครงการส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวม 351,961 แห่งที่ตั้งอยู่ทุกจังหวัด โดยกระทรวงแรงงาน และสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกันระดมความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดลูกจ้าง 10 คน ขึ้นไป ให้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ และเชื่อมความร่วมมือกันระหว่างสถานประกอบการในลักษณะเครือข่ายเพื่อให้ถ่ายทอดองค์ความรู้



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น