ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.62 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำนวัตกรรมจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยวช. รับมอบหมายจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. โดยคณะกรรมการจิตอาสาเฉพาะกิจ กลุ่มงานโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ให้ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯดังกล่าว ณ สำนักงานเทศบาลเมืองอุทัยธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
ทั้งนี้พลตรี วีรยุทธ กวยะปาณิก เลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ภาค 3 ผู้แทนศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” โดยมีดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความเป็นมา และร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวต้อนรับ พร้อมผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ทั้งสิ้นจำนวน 210 คน ซึ่งวช. ดำเนินการจัดกิจกรรมลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง
โดยในปีนี้กำหนดจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 8 จังหวัด ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีเป็นจังหวัดสุดท้ายในการจัดกิจกรรมนี้
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาลำน้ำที่พร้อมนำไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดำเนินชีวิตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียงและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยวช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาสาธิตวิธีการใช้เครื่องและให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำปุ๋ย
หมักและดินปลูกจากวัชพืชและผักตบชวา ให้แก่ชุมชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างเป็นต้นแบบในการผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกต้นไม้จากวัชพืชและผักตบชวา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรและจำหน่ายเป็นการเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนด้วยนวัตกรรมที่ช่วยกำจัดวัชพืชและผักตบชวา โดยวช.สนับสนุน เครื่องผลิตปุ๋ยหมักนี้ฟรีแก่ชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์
พร้อมกันนี้ พลตรีวีรยุทธ เปิดเผยด้วยว่า ในฐานะผู้แทนศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ทรงห่วงใยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า จึงจะนำนวัตกรรมนี้ ไปใช้ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรทำไร่อ้อยมากที่สุด ให้เลิก
การเผา และใช้เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและสร้างดินจากวัชพืชนี้ แก้ปัญหาการเผาที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษในอากาศ แม้กระทั่งปัญหาไฟป่า ซึ่งนวัตกรรมนี้จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้
"การคิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมา มีประโยชน์มาก เราจึงจะจับมือกับผู้ว่ากำแพงเพชร เดินหน้านำร่องเป็นจังหวัดแรก เพื่อแนะนำแก่เกษตรกรว่า เรามีเครื่องมือนี้เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาการเผาซังไร่อ้อยหรือการขจัดวัชพืชต่างๆของพี่น้องเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม"
ทางด้านดร.ลักขณา เปิดเผยถึงแนวคิดว่า เกิดจากการที่อยากให้ประชาชนแยกขยะเอามาทำปุ๋ยหมัก แต่ชาวบ้านรู้สึกว่ายุ่งยาก จึงคิดอยากสร้างเครื่องอำนวยความสะดวก เพราะมีขยะบ้าน 50-60 ที่ถูกทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และเฟส 2 ก็ขยะที่โรงเรียน ที่หน่วยงาน บ้านเรือน จนถึงเรื่องผักตบ จอกแหน จนเกิดเครื่องทำปุ๋ยหมักตัวนี้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น