ท่ามกลางยุคสมัยของ ‘เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต’ (Disruptive Technology)หรือยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลก ส่งผลให้สื่อดิจิตอลกลายเป็นสื่อกระแสหลัก (Mainstream) ที่นำเสนอข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและมีเนื้อหาหลากหลายจนยากจะควบคุม บ่อยครั้งที่เราพบเห็นการนำเสนอความรุนแรงผ่านภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ และการใช้ภาษา ซึ่งอาจนำไปสู่การซึมซับรับรู้ของเยาวชนและกระตุ้นเร้าให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
ด้วยเหตุนี้ สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คนไทยฉลาดใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะผ่าน‘โครงการเยาวชนนักสื่อสารเพื่อสุขภาวะ Media for Health ครั้งที่ 2’เพื่อปลุกพลังเยาวชนคนสื่อสารรุ่นใหม่อายุระหว่าง 17-25 ปีที่มีความรู้ความสามารถในการนำเสนอเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์สู่การเป็น ‘นักสื่อสารเพื่อสุขภาวะ’พร้อมเข้าร่วมการฝึกอบรมทักษะการสื่อสารอย่างเข้มข้นเพื่อเข้าถึงสุขภาวะ 3 รูปแบบ ได้แก่ การเขียนบทและการสร้างสรรค์ละคร การสร้างสรรค์งานเขียน และการผลิตหนังสารคดีสั้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและปฏิบัติกับวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในสาขานั้นอย่างแท้จริง ทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดระหว่างกลุ่มและผลักดันสู่การประกวดเวทีต่าง ๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ค้นพบศักยภาพและแสงสว่างที่มีอยู่ในตัวเอง
หลังจัดให้มีการฝึกอบรมเยาวชนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8-10 เดือน สสส. จึงจัดงานแถลงข่าวปิดค่าย Media for Health ครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ ที่โรงภาพยนตร์ 4, Century The Movie Plaza อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.62 ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติและเยาวชนมากมายที่เข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น ภายในงานมีการนำเสนอผลงานของน้อง ๆ ที่เข้าร่วมเวิร์คช้อป ได้แก่ การแสดงละครใบ้เรื่อง ‘เงา’สารคดีสั้นเรื่อง ‘Sugar Beet’ และ ‘Listener’ รวมถึงพูดคุยกับหนึ่งในทีมเขียนวรรณกรรมเรื่อง ‘ฆาตรกรสีเทา’ พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘โรคซึมเศร้าหรือ โลก-ซึม-เศร้า?’โดย เอิน-กัลยากร นาคสมภพ อดีตนักร้องวัยรุ่นที่เคยต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาแล้ว
คุณวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ คณะกรรมการกองทุน สสส. และคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ ฯ ครั้งที่ 2 พร้อมชื่นชมผลงานของเยาวชนด้วยว่า “สสส. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปในฐานะที่เป็นทั้งผู้ใช้และผู้สร้างสรรค์สื่อในเวลาเดียวกัน (media users and creators) มีความรู้เท่าทัน พร้อมส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ในฐานะ ‘ผู้ใช้สื่อ’ สู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้และนักสื่อสารสุขภาวะ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมไทย โดยผลงานของน้อง ๆ ในปีนี้สะท้อนความสามารถและทักษะในการสื่อสารที่โดดเด่นและแตกต่าง ทำให้ผลงานที่ออกมาสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของสื่อดิจิตอล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น