ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เวลา 09.30 น. ณ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมรับฟังข้อเสนอจากผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ จากเจ้าของประสบการณ์ความรุนแรง พร้อมรับ 7 ข้อเสนอจากบ้านพักฉุกเฉิน
ซึ่งมุ่งเร่งออกมาตรการแก้ปัญหาความรุนแรง เน้นสร้างความเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ โดยการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ร่วมกับ บ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง มูลนิธิพิทักษ์สตรีและมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
โดยภายในงานได้มีการแสดงละครชีวิต (จริง) “เจ็บนี้..ใครช่วยฉันได้” จากสมาชิกบ้านพักฉุกเฉิน และกล่าวสุนทรพจน์, นิทรรศการ “เขาวงกตแห่งความทุกข์” เรื่องเล่าความรุนแรงจากผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว มีภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้จัดรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปี และได้รับข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนที่มุ่งผลักดันให้การแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ หมดไปจากสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับหน่วยงานผู้จัดงานในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ให้ข้อเสนอและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานแก่ภาครัฐเป็นอย่างมาก ซึ่ง พม. โดย สค. ก็ได้นำไปพิจารณาเข้าที่ประชุมเชิงนโยบายระดับชาติด้วย พร้อมทั้งนำไป ประสาน ผลักดันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วย สำหรับในวันนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ได้มีโอกาสเข้ามารับข้อเสนอด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมเชิงนโยบายระดับชาติ และระดับจังหวัดเพื่อร่วมกันพิจารณาขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไป โดยจะเห็นได้จากที่ผ่านมา สค. ได้พยายามแก้กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว เตรียมเข้าสู่สภาภายในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนเนื้อหาบางส่วนมีระบุด้วยว่า นายทะเบียนที่เป็นผู้รับจดทะเบียน จะต้องแจ้งสิทธิต่าง ๆ ในการสร้างครอบครัว นอกจากนี้ เรายังจัดทำหลักสูตรให้ความรู้การสร้างครอบครัวก่อนแต่งงานอีกด้วย
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับข้อเสนอจากตัวแทนที่เป็นสมาชิกบ้านพักฉุกเฉินฯ เป็นผู้ยื่นต่อ พม. 7 ข้อ ได้แก่ 1) เมื่อไปจดทะเบียนสมรสแล้วควรมีคู่มือ “ผัว-เมีย”เพื่อเป็นกติกาในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน 2) ควรมีศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงในชุมชน หมู่บ้าน ไม่ใช่เพียงการประชาสัมพันธ์ในภาพรวมแต่ไม่มีประสิทธิภาพ 3) มีการติดตามคดีที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และควรควบคุมตัวผู้กระทำทันทีเพื่อป้องกันการถูกกระทำซ้ำ ไม่ใช่ ควบคุมผู้ถูกกระทำ(ผู้หญิง) 4) เมื่อผู้หญิงและเด็กถูกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ควรมีการดำเนินคดีผู้กระทำด้วยความรวดเร็ว 5) ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก 6) เมื่อมีการฟ้องร้องคดีอยากให้มีกองทุนยุติธรรมที่เข้าถึงได้ง่าย และ 7) ควรจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพ/เงินสำหรับดูแลตัวเองและบุตรให้มีความมั่งคงสืบไป
“ทัศนคติของคนในสังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คือเริ่มมองเห็นความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เริ่มออกมาแจ้งความเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมา พม. รณรงค์ไม่ยอมรับไม่นิ่งเฉย ปัญหาของสังคมไม่ใช่เรื่องส่วนตัว โดยกลไกที่พัฒนาได้ดี คือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ที่ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษา นอกจากนี้การพัฒนาพื้นที่ส่วนตำบล เราสามารถยกระดับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ขึ้นเป็นศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขความรุนแรงของครอบครัว (ศปก.ต.) ที่ดำเนินการเฉพาะด้านการยุติความรุนแรง ปีนี้ทำได้ 21 จังหวัด 42 พื้นที่ เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัวภายในพื้นที่ และจะเพิ่มศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขความรุนแรงให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย
ทางด้านณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง กล่าวว่า บ้านพักฉุกเฉินดูแลปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบแต่ละวันรับเคสเข้าออกประมาณ 80-85 ราย หรือใน 1 ปี ประมาณ 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาท้องไม่พร้อม ติดเชื้อเอชไอวีถูกกระทำความรุนแรง โดยบ้านพักจะดูแลตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้า ที่พักยารักษาโรค มีทีมพยาบาล อาสาสมัคร นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาดูแลตลอด 24 ชั่วโมงนอกจากนี้ทางบ้านพักยังมีศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพ โครงการเพิ่มต้นทุนชีวิตใหม่โดยมีเงินให้เพื่อนำไปใช้ดำเนินชีวิตหลังจบการศึกษา ม.6
“สิ่งที่น่าห่วงในบ้านพัก คือ การฟื้นฟูเยียวยาต้องเร่งทำอย่างมาก เนื่องจากเคสที่เข้ามาต้องถูกกดทับ เกิดความเครียดซึมเศร้า ซึ่งต้องเน้นการเสริมพลังกายใจให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการเน้นให้ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงมาบอกเล่าเรื่องราวผ่านการแสดงต่าง ๆ ซึ่งเป็นชีวิตจริงที่เขาต้องเผชิญ สะท้อนผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม เพราะจากการพูดคุยกับเคส สิ่งแรกที่สะท้อนออกมาคือ เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับการต้อนรับที่ดี ไม่เป็นมิตร ไม่รับแจ้งความ พยายามให้ไกลเกลี่ย ขณะเดียวกันเมื่อไปตรวจร่างกาย กลับถูกเหยียดหยามด้วยสายตา และคำพูดไม่ดี ทำให้เหมือนเป็นการถูกกระทำซ้ำ และหลายรายที่ถูกกระทำเมื่อไปถึงโรงพยาบาลกลับปฏิเสธการรักษา จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมด้วยช่วยกันขจัดปัญหาความรุนแรง เพิ่มความรวดเร็ว ไม่ให้ปัญหาบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่จนแก้ไขไม่ทัน ที่สำคัญต้องไม่เลือกปฏิบัติ ควรทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม และหวังว่าข้อเสนอจากผู้หญิงที่ถูกทำร้าย ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย สวัสดิการต่าง ๆ ในครั้งนี้จะเป็นจริง” ณัฐิยา กล่าว
-----------------------------------
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น