pearleus

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561

งานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2561 “70 ปี ปฏิญญาสากล : สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยยั่งยืน”


สืบเนื่องจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และมีมติให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิทธิมนุษยชนสากล” (Human Rights Day) เพื่อให้มนุษยชาติได้ร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และผลกระทบของความเลวร้ายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจ ตามมาตรา247 ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน การจัดกิจกรรมในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ถือเป็นกิจกรรมรูปแบบหนึ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความสำคัญและดำเนินการจัดงานอย่าง
ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2547  เป็นต้นมา

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรณรงค์และกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของวันดังกล่าว และร่วมสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิให้เกิดขึ้นในสังคมไทย  สำหรับปี 2561  นี้ ถือเป็นปีที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการครบรอบ  70  ปีของการประกาศรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนร่วมกันของประชาคมโลก ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง 

ในการนี้ กสม. จึงได้จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10  ธันวาคม ประจำปี 2561 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “70  ปี ปฏิญญาสากล : สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยยั่งยืน” เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของวันดังกล่าวและเป็นการสานต่อการดำเนินงานให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติและประชาคมโลกในการสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยจัดงานในวันที่ 11  ธันวาคม 2561  ณ ห้องแกรนด์ AB โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ


สำหรับกิจกรรมในงานวันสิทธิมนุษยชนสากลปีนี้ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง “ 70 ปี ปฏิญญาสากล : สิทธิมนุษยชนก้าวไกลสู่สังคมไทยยั่งยืน” โดย นายวัส ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การฉายวีดิทัศน์ “เหลียวหลัง แลหน้า บนเส้นทางสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” การมอบรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” รางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561  และรางวัลผู้ชนะการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2561  และการแสดงนิทรรศการขององค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน 

การมอบรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” และรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชู  และประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สังคมได้รับรู้  รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่อุทิศตนเองในการทำหน้าที่ดังกล่าว  รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ประวัติของผู้ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่บุคคลอื่นในสังคมต่อไป

โดยผลการพิจารณาคัดเลือกรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน”และรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี2561  มีดังนี้
1. รางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” จำนวน 3 ราย ได้แก่  นางซินเทียค่า (แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง) ผู้ก่อตั้งและอำนวยการแม่ตาวคลินิก , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ,นายเสรี นนทสูติ  ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

2. รางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
   ประเภทบุคคลทั่วไป  จำนวน 3 ราย ได้แก่ คุณฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์ ,ายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ,นางอภันตรี เจริญศักดิ์  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฝ่ายสตรี
ประเภทเด็กและเยาวชน (อายุไม่เกิน25 ปี)  จำนวน 1 ราย ได้แก่ สโมสรนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต


ประเภทสื่อมวลชน  จำนวน 3 ราย ได้แก่ นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์     บรรณาธิการเว็บไซต์  ThisAble.me  นางสาวหทัยรัตน์ พหลทัพ  ผู้สื่อข่าวอาวุโส  ไทยพีบีเอส Mr. Luke Duggleby      Freelance Photographer     
ประเภทองค์กรภาคเอกชน  จำนวน 3 ราย ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ฝ่ายสตรี สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
        ประเภทองค์กรภาครัฐ   ไม่มีองค์กรใดผ่านการคัดเลือก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น