pearleus

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“พม. POLL” กระตุ้นสังคมร่วมยุติความรุนแรงในสังคมตลอดเดือนพ.ย. เนื่องใน “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 61 เวลา 10.00 น. ที่บริเวณโถง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานการแถลงข่าว พม. POLL กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในประเด็น “ความรุนแรงในสังคมไทย ลดลงได้ด้วย (ใคร?) คุณ”  โดย พม. POLL ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 1-12  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

พร้อมกันนี้มีการเสวนาในประเด็น “ความรุนแรงในสังคมไทย ลดลงได้ด้วย (ใคร?) คุณ” เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในสังคม โดยมี 1) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 2) นายจเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 3) นางสาวศรัญญา จิตต์ต่างวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการ UN Women เป็นวิทยากรร่วมเสวนา และมี นายธนชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินรายการ
       
นายปรเมธี กล่าวว่า ด้วย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้มีการจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็น ““ความรุนแรงในสังคมไทย ลดลงได้ด้วย (ใคร?) คุณ” โดยความร่วมมือระหว่างพม. POLL ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 1-12  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินการสำรวจระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 จากประชาชนทั่วประเทศที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 4,800 หน่วยตัวอย่าง เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างกระแสทางสังคมในการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในการยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
       
นายปรเมธี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นทางสังคม “พม. POLL” ครั้งนี้ พบว่า มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ได้แก่ 1) ความรุนแรงในสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่นึกถึง พบว่า ร้อยละ 55.04 นึกถึงการทำร้ายร่างกาย เช่น ทะเลาะวิวาท การทุบ ตี ต่อย เตะ 2) สาเหตุหรือปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สุรา/ยาเสพติด  รองลงมา คือ การอบรมเลี้ยงดู การคบเพื่อน และความเครียด 3) ความรุนแรงในครอบครัวมีผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือเก็บกดมากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 52.60  ระบุว่า มีผลต่อเด็กในระดับมากที่สุด 4) ประเภทของสื่อที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องความรุนแรงทางสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 คือ สื่ออินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ ยูทูป รองลงมา คือ สื่อสังคมออนไลน์ คลิปวิดีโอ ไลฟ์สด และละคร 5) การนำเสนอเรื่องการกระทำความรุนแรงในสังคมบ่อยครั้ง มีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบมากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 44.65  ระบุว่า มีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบในระดับมาก 6) สิ่งที่ประชาชนจะทำหากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคม พบว่า ร้อยละ 62.31  ประชาชนจะแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น  สายด่วน 191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย และศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวง พม. เป็นต้น
       
นอกจากนี้ ในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม พบว่า ร้อยละ 53.07 ระบุว่าแนวทางการแก้ปัญหา คือ การบังคับใช้กฎหมาย (มีบทลงโทษที่เด็ดขาด)  รองลงมา คือ  การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว/อบรมสั่งสอน การให้ความรู้ เรื่อง “การยุติความรุนแรง” ตั้งแต่เด็ก  การรณรงค์ยุติปัญหาความรุนแรง และทุกภาคส่วนควรนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและแนวทางการป้องกันความรุนแรง 8) การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม พบว่า ร้อยละ 26.27 ระบุว่า ไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรง และร้อยละ 25.29 ระบุว่า ไม่ใช้อารมณ์หรือกำลังในการตัดสินปัญหา 9) การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมควรเป็นหน้าที่ของใคร พบว่า ร้อยละ 42.79 ระบุว่า เป็นหน้าที่ของตนเอง รองลงมา เป็นหน้าที่ของครอบครัว และตำรวจ/พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ
         
ทางด้าน นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งได้ร่วมเสวนา ในประเด็น “ความรุนแรงในสังคมไทย ลดลงได้ด้วย (ใคร?) คุณ” เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในสังคม ได้พูดถึงการลดความรุนแรงในสังคมไทย สามารถเริ่มได้ที่ตัวเราเอง และเชิญชวนทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ พร้อมกับขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกท่านทุกสำนักช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกระแสสังคม “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ” เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยในปี 2561 การรณรงค์เน้นให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเจตคติของคนในสังคมโดยใช้แนวคิด “HeForShe : ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” ซึ่งในปีนี้อยากให้ผู้ชายได้มีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงในสังคม โดยให้เห็นว่าผู้ชายก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในการไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี หรือคนในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้มุ่งเป้าว่าผู้ชายเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำความรุนแรง ถึงแม้ข้อมูลในปี 2561 จะพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชายก็ตาม (ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.violence.in.th) สำหรับ
       
สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์ในปี 2561 นี้ กำหนดจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีกิจกรรมสำคัญและต่อเนื่องกัน คือ 1) ในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.30 – 11.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธานในพิธีเปิด และ “ประกาศเจตนารมณ์ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ” และได้มอบโล่รางวัลให้แก่บุคคล หน่วยงาน และสื่อที่ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว และมอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดการ์ตูนคาแรคเตอร์ท่าทางที่อยากเห็นและไม่อยากเห็นในครอบครัว และ 2) ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-18.30 เดินขบวนรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ แบ่งเป็น 4 ขบวน และเดินมารวมกัน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยขบวนหลักเดินออกจากกระทรวง พม. นำ

โดย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ขบวนจาก UN โดยทีมสหภาพแรงงาน ขบวนจากถนนข้าวสาร โดยทีมผู้หลากหลายทางเพศ/สมาคมฟ้าสีรุ้ง และ ขบวนจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยทีมจากเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ภาคกลาง จ.นนทบุรี กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย นักเรียนนายร้อยตำรวจ ทหารจากกองบัญชาการทหารบก กองบัญชาการทหารเรือ กองบัญชาการทหารอากาศ นักศึกษา และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 1,000 คน













0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น