ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี ยังได้มอบโล่รางวัลประกวดการ์ตูนคาแรคเตอร์ท่าทางที่อยากเห็นและไม่อยากเห็นในครอบครัว และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้แก่ บุคคล หน่วยงาน และสื่อ ที่ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีบุคคลที่มีชื่อเสียงมารับรางวัล เช่น นางสิรินยา บิชอพ (ซินดี้) ดารานักแสดง/นางแบบที่ปลุกพลังสังคมยุติการคุกคามทางเพศ ผ่านแนวคิด Don’t tell me how to dress และ #TellMenToRespect นางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี (บุ๋ม) ดารานักแสดง/พิธีกรชื่อดังที่จัดตั้ง “องค์กรทำดี”
นอกจากนี้ยังมีสื่อสร้างสรรค์ ประเภทรายการ/ละครโทรทัศน์ ได้แก่ รายการผู้หญิงมหัศจรรย์ Wonder Woman ช่อง MCOT Family 14 ละคร เรื่องข้ามสีทันดร ช่อง 3 และละคร เรื่อง บาปรัก ช่อง One ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย เอกอัคราชทูตที่พำนักในประเทศไทย ผู้บริหารและผู้แทนจาก องค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา ศิลปิน ดารานักแสดง และสื่อมวลชน จำนวน 500 คน
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย ซึ่งปรากฏให้เห็นมาเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและสตรี เนื่องด้วยปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญ โดยกำหนดประเด็นไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ได้แก่ ยุทธศาสตร์เสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ มีเป้าหมาย คือ สถาบันทางสังคมมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวสถาบันการศึกษา ชุมชน สื่อมวลชนและภาคเอกชน และ ยุทธศาสตร์ การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม
ทั้งนี้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว 3 มิติ โดยเริ่มจากมิติแรกในการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อการคุ้มครองและป้องกันบุคคลในครอบครัวให้ปราศจากความรุนแรง ต่อด้วยมิติที่สองซึ่งเป็นการดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยการเสริมสร้างศักยภาพกลไกตามกฎหมาย และมิติสุดท้ายซึ่งเป็นการเสริมพลังเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในลักษณะประชารัฐเพื่อการป้องกัน แก้ไข และคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความรุนแรงในสังคม การวางระบบงานทางสังคมสงเคราะห์ ให้แก่สถานสงเคราะห์และสถานฝึกอาชีพของภาครัฐทั่วประเทศ รวมทั้งการปรับเจตคติของคนในสังคมเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี และสำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งรัฐบาล หน่วยงาน องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน ได้ร่วมกันระดมความร่วมมือจัดกิจกรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวตลอดทั้งเดือนเป็นประจำทุกปี
สำหรับปีนี้ก็เช่นกัน ทุกภาคส่วนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งลดและยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว แต่ขยายต่อยอดในการยุติความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบด้วย ภายใต้แนวคิด “He For She : ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ชายทุกวัยและทุกสาขาอาชีพ เป็นพลังยุติความรุนแรงฯ
“ในวันนี้ผมขอประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำสุภาพบุรุษ ร่วมกันรณรงค์ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง ด้วยการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมไทยทุกรูปแบบ” พลเอก ฉัตรชัย กล่าวในตอนท้าย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น