pearleus

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

"อาจณรงค์" ผู้ตรวจฯกรมการพัฒนาชุมชน นำสื่อเยือน OTOP Village เส้นทางอารยธรรมล้านนา

กรมการพัฒนาชุมชนนำโดยนายอาจณรงค์ สัตยพาณิชย์ ผู้ตรวจราชการ กรมการพัฒนาชุมชน นำสื่อเยือน OTOP Village เส้นทางอารยธรรมล้านนาจากป่าซาง-ปางขอน-สันป่าม่วง-หลุกใต้ไปจนถึงบ้านต้นเปาชมงานฝีมือ-สัมผัสวิถีชีวิต-ลิ้มรสกาแฟเสน่ห์ของชนเผ่า..ไปแล้ว..จะรัก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่  6-8 พฤศจิกายน 2561 นายอาจณรงค์ สัตยพาณิชย์ ผู้ตรวจราชการ กรมการพัฒนาชุมชน นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมในกิจกรรมสื่อมวลชนเยี่ยมชมหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (Press Tour)  ในเส้นทางที่ 1 :  อารยธรรมล้านนา :เชียงราย - พะเยา - ลำปาง - เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6 - 8 พฤศจิกายน 2561 เริ่มต้นที่หมู่บ้านป่าซางวิวัฒน์ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย  “ป่าไม้อุดมดี สตรีสวยสด สับปะรดหวานฉ่ำ วัฒนธรรมล้านนา สองศาสนารวมกัน” คำขวัญประจำหมู่บ้านป่าซางวิวัฒน์  บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดินและน้ำ ต้นกำเนิดของพืชพรรณธัญญาหาร ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนบนดินแดนวิถีเกษตรกรรมแห่งล้านนา ผู้คนที่นี่อยู่รวมกันทั้งพุทธศาสนิกชนและคริสตศาสนิกชน ชาวบ้านมีอาชีพทำการเกษตร และที่ขึ้นชื่อคือ"สับปะรดนางแล" ที่กลายเป็นที่รู้จักกันทั้งคนไทยและต่างชาติ เพราะความหอม หวานฉ่ำไม่เหมือนสับปะรดอื่นใดในโลก

สัปปะรดป่าซางวิวัฒน์ เริ่มขยายพื้นที่ปลูกที่กว้างออกไปเรื่อยๆตามความนิยม พื้นที่1ไร่ สามารถปลูก
ได้4,000ต้น ให้ผลผลิตประมาณ2,800-3,000 ลูก/ไร่ กระทั่งการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยองค์การบริหารส่วนตำบลนางแล(ปัจจุบันเทศบาล ต.นางแล)ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนผลไม้และของดีในชุมชน จึงได้เปลี่ยนชื่อ"สับปะรดป่าซางวิวัฒน์"เป็น"สับปะรดนางแล"ตราบจนปัจจุบัน

ที่นี่ยังประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยดึงจุดเด่นของท้องถิ่น ทั้งด้านทรัพยากรและความรู้อันเกิดจากภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมา เช่น กลุ่มผลิตข้าวปลอดสารพิษ กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปสับปะรดและสมุนไพรซางคำ กลุ่มผักปลอดสารพิษ กลุ่มแปรรูปหมู กลุ่มผลิตปูนาและหนูพุก กลุ่มแปรรูปใยสับปะรดเป็นกระดาษสา กลุ่มนวดแบบหมอพื้นบ้านล้านนาโบราณ เป็นต้น

สักการะวัดป่าปฐมพุทธาราม หรือ สำนักสงฆ์ปฐมพุทธาราม ตั้งอยู่ที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย  ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของลูกศิษย์หลวงพ่อวัดท่าซุง  เผยแผ่วิธีฝึกปฏิบัติ และบำเพ็ญทานบารมีร่วมกัน โดยมีหลวงพ่อสมบูรณ์ สุขวฑฺฒโน ท่านอยู่ประจำที่สำนักสงฆ์แห่งนี้

หมู่บ้านปางขอน ตั้งอยู่ในบนดอยสูงในพื้นที่ตำบลห้วยชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนชนเผ่าอาข่า มีประเพณีการต้อนรับด้วยการคล้องไข่ต้มย้อมสีแดงร้อยด้วยไหมพรหมให้เป็นสร้อยนำมาคล้องคอแขกผู้มาเยือน ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 40 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางเดียวกับน้ำตกขุนกรณ์ เสน่ห์ของที่นี่เป็นไร่กาแฟ  มีโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน แหล่งที่มีดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกันในเดือนมกราคมจะแตกดอกผลิบานเป็นสีชมพู กระจายไปทั่วบริเวณดอยบ้านปางขอน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงบ้านปางขอน ที่มีดอกซากุระขึ้นมากกว่าบริเวณอื่นเป็นพิเศษ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ชมดอกซากุระเมืองไทยที่เริ่มเป็นที่รู้จัก
กันมากขึ้นแล้ว ปางขอนจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติเคียงคู่กับไร่กาแฟ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรที่สูง

ชุมชนร่วมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนกาแฟ  มีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า 2,000 ไร่ ผลผลิตทั้งหมด
ประมาณ 250,000-300,000 กิโลกรัม (กาแฟกะลา) ถือได้ว่าเป็นกลุ่มกาแฟกลุ่มใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้บริโภคกาแฟรู้จักในรสชาติที่คงที่และเข้มข้นได้มาตรฐาน กาแฟปางขอนเริ่มขึ้นพร้อมๆกับกาแฟดอยช้าง ในปี 2526 แต่ด้วยความที่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่า  ทำให้การพัฒนากาแฟเป็นด้วยความล่าช้า ซึ่งอดีตเป็นเพียงการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟทดแทนพืชเสพติดเท่านั้นจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก นายพันธมิตร ดวงตะวันจันทรา ผู้ที่สืบทอดกาแฟบางขอนจนสามารถทำให้กาแฟบางขอนเป็นที่รู้จักกว้างขึ้นทั้งในจังหวัดเชียงราย-เชียงใหม่ และต่างประเทศ


วันที่ 7 พย. ไปยังหมู่บ้านสันป่าม่วง อ.เมืองพะเยา  ที่นี่ยังคงความเป็นชุมชนชนบทอยู่ สองข้างทางมีความเขียวขจีของทุ่งนาสลับกับบ้านเรือน เป็นหมู่บ้านแห่งการทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา "ผักตบชวา"ที่ดูไร้ค่าตามแม่น้ำลำคลอง กลายมาเป็นสิ่งมีค่าสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้าน ซึ่งรวมกลุ่มกันผลิตงานหัตถกรรมจากผักตบชวาหลังว่างจากงานเกษตรกรรมด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในจังหวัดพะเยา ยังได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว  ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย มีความคงทน  สวยงาม เช่น หมวก กระเป๋า จานรองแก้ว ไปจนถึงของประดับตกแต่งบ้าน



เมื่อมาที่นี่จะไม่ลืมที่แวะสักการะ วัดอนาลโยทิพยาราม บนดอยบุษราคัมและม่อนพระนอน  สถานที่ปฏิบัติธรรมที่ร่มรื่นและยังเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดพะเยา   บริเวณด้านล่างของวัดมีการจัดส่วนร้านค้าและลานจอดรถไว้ที่เชิงดอย แยกส่วนจากเขตอันร่มรื่นเงียบสงบของวัดที่ตั้งอยู่บนดอยอย่างชัดเจน โดยมีบันไดคอนกรีตสลักลวดลายอันงดงามนำขึ้นไปสู่บริเวณวัด แมกไม้สองข้างทางยังเขียวขจีดำรงความเป็นธรรมชาติไว้อย่างสมบูรณ์ ห่างจากตัวจังหวัด 20 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงหมายเลข 1 (พะเยา - เชียงราย) ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1127 - 1193 อีก 9 กิโลเมตร ความงดงามภายในบริเวณวัด ประกอบด้วยพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย  พระพุทธรูปปางต่างๆ   อาทิ พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางลีลา พระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างด้วยความประณีตสวยงามแบบศิลปไทย รัตนเจดีย์ เป็นศิลปะแบบอินเดียพุทธคยา เก๋งจีนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้วมรกตจำลอง และจากยอดเขาสามารถชมทัศนียภาพ ของกว๊านพะเยา และเมืองพะเยาได้อย่างสวยงาม  สามารถขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางบันไดและทางรถยนต์

ที่จ.ลำปาง สักการะ วัดพระธาตุลำปางหลวง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ไปทางทิศตะวันตก เฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่ามีมา ตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลายเป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุด แห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ มากมายพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของ คนปีฉลู ด้วย

เริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู เช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภาย นอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆ ลักษณะเจดีย์ แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลให้พระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและ พระอัฐิธาตุ จากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่ หนานทิพย์ ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่ 


                                                             
วันที่ 8 พ.ย.ที่บ้านหลุกใต้   ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง เนสุดยอดหมู่บ้านหัตถกรรมแกะสลักไม้ ลำปางหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของลำปาง คำว่า “หลุก” มีคำเรียกที่เพี้ยนมาจาก คำว่า “หลุบ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกังหันน้ำในปัจจุบัน เนื่องจากแต่เดิมลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน เป็นที่ราบสูง มีแม่น้ำอยู่ต่ำกว่าหมู่บ้าน การจะนำน้ำมาใช้จึงเป็นการยากลำบาก จึงมีการคิดนำหลุบมาใช้สำหรับวิดน้ำในชีวิตประจำวัน คนในหมู่บ้านสวนใหญ่มีอาชีพแกะสลักซึ่งเป็นความงามแห่งอัตลักษณ์ชุมชน  การดำเนินวิถีชีวิตแบบพอเพียง ทำการเกษตร และแกะสลักไม้ เป็นอาชีพหลัก จนได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมล้านนาด้านการแกะสลักไม้  จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ขึ้นชื่อ เมื่อมาถึงบ้านหลุกใต้ นักท่องเที่ยวจะซื้อสินค้าทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ตลอดจนไม้แกะสลักที่สวยงาม และยังมีแหล่งท่องเที่ยว เช่น สะพานไม้เก่า (ขัวมุง)หลุกยักษ์ ล่องเรือชมนกเป็ดน้ำ และบึงบัว ปางไม้แกะสลัก วัดเก่าแก่ มีธรรมาสน์อายุกว่าร้อยปี

ที่หมู่บ้านต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ "มหัศจรรย์แห่งการสร้างสรรค์กระดาษสาบ้านต้นเปา"ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านน้อยคนที่จะไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นกระดาษสา เนื่องจากกระดาษสาเป็นภูมิปัญญาที่มีการทำมาช้านาน แต่บ้านต้นเปาเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่และทำมานานกว่า 100 ปี สืบทอดมาจากชนเผ่าไทยเขิน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวต้นเปาที่อพยพมาจากสิบสองปันนา เชียงตุง และเชียงรุ้ง เมื่อสมัยก่อตั้งอาณาจักรล้านนา  มีหลักฐานเกี่ยวกับบรรพบุรุษหลงหลืออยู่ในปัจจุบันคือ สำเนียงภาษาพูดของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่พูดสำเนียงเขิน ซึ่งในอดีตอาณาจักรล้านนานั้นประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชนเผ่า แต่ละชนเผ่าก็จะมีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกันออกไป




สำหรับหมู่บ้านต้นเปาแห่งนี้ในอดีต ไม่เคยมีต้นปอสาวัตถุดิบหลักของการทำแผ่นกระดาษอยู่ในหมู่บ้านเลย เพราะต้นปอสานั้นมักจะอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ดังนั้นการทำกระดาษสาจึงน่าจะเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันมาหลายช่วงอายุก่อนที่จะอพยพ แต่ได้นำภูมิปัญญาการทำกระดาษสานี้ติดตัวมาทำต่อที่บ้านต้นเปา ซึ่งเริ่มแรกทำเป็นอาชีพรองในยามว่าง  กระดาษสาที่ได้จะถูกนำมาใช้เขียนยันต์ ห่อของ ทำดอกไม้ ไส้เทียน ตุง คัมภีร์ โคมลอยและอีกส่วนหนึ่งจะนำไปขายภายในชุมชนใกล้เคียงเพื่อนำไปผลิตร่มและพัดที่บ้านบ่อสร้างหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน ต่อมาร่มบ่อสร้างก็เปลี่ยนไปใช้ผ้าแทน ความต้องการกระดาษสาลดลง ชาวต้นเปาบางส่วนก็หันไปทำอาชีพอื่นแต่ยังมีคนในชุมชนบางคนที่ต้องการสืบทอดจนกระทั่งในต่างประเทศเริ่มมีความนิยมใช้ผลิตภัณฑ์กระดาษสาทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระหว่างชุมชนกับพ่อค้าคนกลาง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด จากกระดาษสาช้อนบางก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นกระดาษสาย้อมสีธรรมชาติ กระดาษสาแตะดอกไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์มาจากกระดาษสา โดยใช้เทคนิคใหม่ ๆ ทำให้กระดาษมีความสวยงามและความหลากหลายมากขึ้นและมีจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน




ในปัจจุบันอีกทั้งยังคงอนุรักษ์กระดาษโบราณที่มีชื่อเสียงแผ่นแบบธรรมชาติด้วยวิธีการช้อนบางไว้อีกด้วย ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) เพื่อเชื่อมโยงสินค้า OTOP ที่สะท้อนอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวและบริการ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน และจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พบว่าโครงการนี้เป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้ชุมชนได้ตื่นตัวและเกิดการรวมพลังชุมชนในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาทรัพยากรของชุมชนให้มีคุณค่า ช่วยสร้างงานและรายได้แก่ชุมชน สามารถจูงใจให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และท่องเที่ยวในชุมชน นับเป็นการสร้างรายได้กับคนในชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง กระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศอันเป็นการดำเนินการที่มีกลไกการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับพื้นที่ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบประชารัฐตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล 

ส้นทางอารยธรรมล้านนา...ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์หลากหลายรูปแบบ เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมา.. เชคอิน แชะ ชม ชิม ช้อป แชร์..  OTOP Village..ไปแล้วจะรัก..ไม่รู้ลืม.. 


*********************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น